posttoday

ส่งออกเดือนแรก พุ่ง 8 % ชี้รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ

02 มีนาคม 2565

‘จุรินทร์’ชี้เหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังไม่กระทบส่งออกไทย แนะเอกชนหาช่องส่งออกสินค้าทดแทน 2 ประเทศ เผยเดือนม.ค.ส่งออกโต 8% ตามออเดอร์ตลาดต่างประเทศฟื้นตัว

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมกราคม 2565  ว่าการส่งออกขยายตัว 8% มีมูลค่า 708,312 ล้านบาท สะท้อนจากภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวตามาภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง  ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น  โดยยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 3-4%

สำหรับการประชุมกับภาคเอกชน ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน  นั้น ขณะนี้ภาวะการค้าส่งออกและนำเข้าของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบทางตรง เนื่องจากตลาดรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนแค่ 0.38% ของไทย ขณะที่ตลาดยูเครน 0.04% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก

ทั้งนี้หากพิจารณาเป็นรายสินค้า ผลกระทบทางตรงที่จะกระทบต่อสินค้าประเภทยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นต้น และในอนาคตอาจกระทบต่อต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ  รวมถึงหากมีการปิดท่าเรือบางท่าในรัสเซียหรือยูเครน การส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้

ส่งออกเดือนแรก พุ่ง 8 %  ชี้รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานหรือราคาเหล็กนำเข้า ที่จะนำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องหรือก่อสร้าง เป็นต้น รวมถึงผลกระทบต่อการนำเข้าธัญพืช เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและ ข้าวโพด เป็นต้น เพราะรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เตรียมมาตรการต่างๆรองรับร่วมกันหากเกิดปัญหา ดังนี้ 1.เตรียมหาตลาดส่งออกอื่นทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาตินอเมริกา รวมถึงมองไปยังตลาดสินค้าของรัสเซียและยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกไปได้ในโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยเข้าไปทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง  สามารถส่งออกไปจีนแทนข้าวโพดของยูเครนหรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียยูเครน เป็นต้น

ส่งออกเดือนแรก พุ่ง 8 %  ชี้รัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้อาหารสัตว์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ บางส่วนเกิดปัญหาเฉพาะกรณี เช่น กากถั่วเหลืองนำเข้าจากสหรัฐฯ กรมการค้าภายในรายงานว่าเกิดจากภัยแล้งในสหรัฐฯ ปริมาณกากถั่วเหลืองลดลง ราคาจึงพุ่งสูงขึ้น มีการเรียกร้องให้ปรับอัตราภาษี โดยกระทรวงคลังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าหากปรับภาษีนำเข้าจะกระทบเกษตรกรไทยอย่างไร

อย่างไรก็ตามต้นทุนอาหารสัตว์ในประเทศในกรณีข้าวโพดที่สูงขึ้นมาเพราะราคาข้าวโพดสูงขึ้นถือเป็นความสำเร็จอีกด้านหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯและรัฐบาล ข้าวโพด ราคา 10-11 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรมีความสุข แต่ก็เป็นต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ทำให้ต้นทุนเนื้อสัตว์อาจสูงขึ้น ดังนั้นต้องแก้ปัญหาทั้งสองด้าน ให้สมดุลอยู่ได้ทั้งสองฝ่ายต่อไป