posttoday

เปิดมาตรการบีโอไอ หนุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

02 มีนาคม 2565

ผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ผลักดันให้แต่ละประเทศยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ท้าทายมากขึ้น ซึ่งไทย โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศความมุ่งมั่นของไทยที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

เป้าหมายใหม่ในการประชุม COP 26 แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการ ลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 7 – 20 ในภาคพลังงานและภาคขนส่งในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่มีเป้าหมายเดียวกัน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เป็นหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคของการลงทุน ด้วยวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า และประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนมาอย่างยาวนาน

โดยกำหนดเป็นหลักเกณฑ์สำคัญตั้งแต่การอนุมัติโครงการที่จะต้องมีการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ หรือหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เป็นต้น

เพิ่มมาตรการส่งเสริมลงทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากหลักเกณฑ์สำคัญในการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งบีโอไอให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการอนุมัติโครงการแล้ว ปัจจุบันบีโอไอยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งสนับสนุนการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น

1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้ขอรับการส่งเสริมฯ จะต้องเสนอแผนการลงทุน ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนี้

  • จะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานลดลงตามสัดส่วนที่กำหนด
  • จะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการในสัดส่วนตามที่กำหนด เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งสิ้น
  • จะต้องมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณของเสีย น้ำเสียหรืออากาศตามเกณฑ์ที่กำหนด

2. มาตรการเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการช่วยเหลือภาคเกษตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการจูงใจภาคเอกชนรายใหญ่ให้มาลงทุนช่วยเกษตรกรเพื่อพัฒนากิจการเกษตรอย่างยั่งยืน เช่น

  • การปลูกข้าวแบบปล่อย Methane ต่ำ
  • การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการเกษตรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การจัดการฟางข้าวและตอซัง การเก็บเกี่ยวผลผลิต การวิเคราะห์ดินและน้ำ เป็นต้น

3. การส่งเสริมประเภทกิจการยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยเปิดให้มีการส่งเสริมที่ครอบคลุมทั้งด้านการผลิตและด้านบริการ เช่น กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น

4. การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) ซึ่งเป็นกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นของเสียจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน หรือโรงงานผลิตที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียงในอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยนำไปจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่บรรยากาศได้ เช่น โพรงทางธรณีวิทยาที่อยู่ใต้ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ บีโอไอยังคงมุ่งให้การส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการที่เข้าข่ายขอรับการส่งเสริมการลงทุน และให้สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น จูงใจให้ภาคเอกชนหันมาให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม และการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

จะเห็นได้ว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอมุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามเป้าหมายของไทยในการดูแลสภาวะโลกร้อนที่ประกาศไว้ในเวที COP 26 และยังสอดคล้องกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance) ซึ่งเป็นทิศทางการลงทุนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพื่อช่วยกันดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้อยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต แนวทางที่กล่าวมานี้ บีโอไอยึดมั่นมาโดยตลอดเพื่อส่งเสริมให้การลงทุนที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง