posttoday

GPSC กำไรลด 3% เหตุต้นทุนเชื้อเพลิงพุ่ง ลุ้นปีนี้ศก.ฟื้นดันการใช้ไฟโต

12 กุมภาพันธ์ 2565

GPSC ชี้ราคาน้ำมันโลกแพงดันต้นทุนก๊าซฯ-ถ่านหิน สูงขึ้น ฉุดกำไรลดลงเล็กน้อย ขณะที่รายได้ปี’64 รวมกว่า 7.4 หมื่นลบ. ด้านบอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผล 1.50 บาทต่อหุ้น

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท.เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 74,874 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2563 ขณะที่กำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 7,319 ล้านบาท ลดลง 3% โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ทำให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ลดลง แม้ปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

รวมถึงมีค่าใช้จ่ายจากการหยุดซ่อมแซมโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 แม้จะได้รับชดเชยจากการประกันภัยบางส่วนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์โรงไฟฟ้าจะกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ

นอกจากนี้ กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน มีการหยุดซ่อมบำรุง ส่งผลให้รายได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จำนวน 702 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณน้ำในการผลิตไฟฟ้ามากกว่าปี 2563

“ในปี 2564 บริษัทฯ รับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการสุทธิหลังภาษีจำนวน 1,633 ล้านบาท สูงกว่าแผนที่วางไว้ โดยส่วนใหญ่ได้รับจากการบริหารจัดการการผลิตและใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน ทำให้สามารถบริหารต้นทุนการผลิตและการขยายฐานลูกค้า รวมถึงการบริหารจัดการงานจัดซื้อและงานซ่อมบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ” นายวรวัฒน์กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 4/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 22,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิรวม 1,168 ล้านบาท ลดลง 20% สาเหตุหลักจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นของ SPP ลดลง ในขณะที่กำไรของ IPP เพิ่มขึ้น จากรายได้ค่าความพร้อมจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว และรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment: EP) ของโรงไฟฟ้าศรีราชาและโกลว์ไอพีพีเพิ่มขึ้น จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเคลมประกันภัยโรงไฟฟ้า โกลว์พลังงานระยะที่ 5 บางส่วนในไตรมาสนี้

GPSC กำไรลด 3% เหตุต้นทุนเชื้อเพลิงพุ่ง ลุ้นปีนี้ศก.ฟื้นดันการใช้ไฟโต

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 58 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม แบ่งเป็นการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ  0.50 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ยังคงเหลือส่วนเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 2564 ที่จะต้องจ่ายในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท โดยบริษัทฯ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 (หรือ XD วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565) และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 เมษายน 2565  หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 แล้ว

สำหรับแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในปี 2565 ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาครัฐตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตและการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ใน 3 ส่วนหลัก ดังนี้ 1. โรงไฟฟ้า IPP มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ที่ทยอยหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงปี 2568 - 2570

2. โรงไฟฟ้า SPP จะมีโครงการ SPP Replacement เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเก่า ที่หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงปี 2562 – 2568 ซึ่งจะมีการส่งเสริมขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  และ  3. โรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ภาครัฐให้การสนับสนุน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ 

“ตลอดปี 2564 GPSC ยังคงดำเนินมาตรการป้องกันและการบริหารจัดการได้อย่างเข้มข้น ผ่านศูนย์เฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส (GPSC G-COVID Center) ทำให้บริษัทฯสามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าไอน้ำ และสาธารณูปโภคได้อย่างมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง ตอบสนองความต้องการใช้ของกลุ่มลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและยังคงดำเนินมาตรการดังกล่าวในปี 2565”