posttoday

ส่งออกไตรมาสแรกโต 5 % จี้รัฐคุมราคาดีเซลหวั่นกระทบต้นทุน

08 กุมภาพันธ์ 2565

สรท.ชี้ราคาพลังงานปัจจัยเสี่ยงส่งออก กระทบต้นทุนขนส่งระยะยาวคาดการณ์ปีนี้ไตรมาสแรกยังโตได้ 5% ชงรัฐตรึงราคาน้ำมัน ค่าไฟ-น้ำ ชะลอปรับขึ้นค่าแรง

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในปีนี้มั่นใจยังมีการขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี2565 คาดขยายตัว 5% ขณะที่ตลอดทั้งปีจะเติบโตระหว่าง 5-8%แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อส่งออกดคือ 1.ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติและถ่านหินน้ามัน ในยุโรปและของโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สหภาพยุโรปอาจขาดแคลนพลังงานเนื่องจากยุโรปนำเข้าแก๊สจากรัสเซีย 25-50% กรณีดังกล่าวส่งผลให้หมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น

ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทรวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก  ทั้งนี้เห็นด้วยกับการตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทเพราะจะช่วยในเรื่องต้นทุนค่าขนส่งได้ที่ผ่านมาบริษัทผู้ส่งออกมีการบริหารจัดการเรื่องรถขนส่งกันเองและตอนนี้ยังดำเนินการอยู่ได้ เนื่องจากทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าขนส่ง แต่ถ้าระยะยาวอาจมีการปรับขึ้นได้

2.แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นกระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว 3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทางทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า  4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นและ5.สถานการณ์โควิด – 19 “โอมิครอน” หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตามทางสรท.มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ดังนี้1.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อยกระดับ/กระตุ้นให้เกิด Trade activity ในลักษณะ Exhibition / Business matching ระหว่างกันให้มากขึ้น รวมทั้งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศคู่เจรจาให้มากขึ้  2.เร่งยกระดับการใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าเต็มรูปแบบ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวก และช่วยลดต้นทุน อาทิ ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

3. ขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรเนื่องจากต้นทุนพลังงานคิดเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิต ราว 2-10% หากราคาพลังงานมีการปรับตัวสูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยตรง รวมทั้งควบคุมค่าน้ำ ค่าไฟ วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง

สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนธันวาคม 2564 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,930.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.2% โดยภาพรวมในเดือนมกราคม - ธันวาคมของปี 2564 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 271,173.5 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 17.1% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 267,600.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 29.8% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 3,573.2 ล้านเหรียญสหรัฐ