posttoday

หนุนเอสเอ็มอีจับเทรนต์ future food ปั๊มส่งออกแสนล้าน

06 กุมภาพันธ์ 2565

หอการค้าฯ ชี้โควิดดันเทรนด์อาหารทางเลือกตอบโจทย์สุขภาพ แนะเอสเอ็มอีปรับตัวเร่งสร้างมูลค่าอุตฯอาหารของไทย สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่าแสนล้าน

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยในงาน “Where is the Future of Future Food” ณ ห้อง Audithorium TCDC  เรื่อง “Connect the dots เชื่อมโยงอาหารแห่งอนาคตเพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทย” ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเทรนด์ของผู้บริโภคให้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาใส่ใจสุขภาพ และเลือกรับประทานอาหารคุณภาพดี และมีประโยชน์ ทำให้ “อาหารแห่งอนาคต” หรือ “future food” ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จนกลายเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปีให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับเทรนด์อาหารในอนาคต New Nomal ที่น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว เช่น อาหารพืชแบบธรรมชาติ (Plant-Based Food) อาหารจากแมลง (Insect Food) และอาหารจากท้องถิ่น (Localization) เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัตถุดิบที่เหมาะสม และมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าว สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้มูลค่าส่งออกอาหาร future food ของไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา  (2010-2021) พบว่า มีสัดส่วนส่งออกอาหารอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2020 (2563) ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกอาหารมีมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออก อาหารกลุ่ม future food ถึง 123,146 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% และในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2021 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารกว่า 806,430 ล้านบาท เป็นอาหารกลุ่ม future food กว่า 71,570 ล้านบาท

นอกจากนี้ภายใต้นโยบาย Connect the dots หอการค้าไทย ได้ทำงานเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง อาทิ ความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตไทยส่งออกสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสในการค้าและลงทุนเพิ่มมากขึ้น

หากพิจารณา Demand และ Supply Side ของประชากรโลก ในประเทศที่ด้อยพัฒนามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น คำตอบคือ “ความมั่นคงและความยั่งยืนของอาหาร” จะเพียงพอต่อประชากรในโลก โจทย์สำคัญของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ เอสเอ็มี จะสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งวัตถุดิบและสามารถใช้วัตถุดิบให้ไม่เหลือทิ้งได้อย่างไร เพื่อสร้างคุณค่าของอาหาร (Value Added) และพึ่งพาตนเอง พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตามหอการค้าไทย ได้ดำเนินการจัดโครงการที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมสมาชิกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาทิโครงการ Online Clinic All About Food : ปั้นนักธุรกิจอาหารสู่โอกาสแห่งความสำเร็จ เป็นเวทีให้คำปรึกษาระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารของไทย และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทุกขนาดที่สนใจ ตลอดจน การส่งเสริมมาตรฐาน COVID-19 Prevention Best Practice การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก ไปยังสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ได้มาตรฐานฯ จำนวน 157 รายแล้ว

ดร.พจน์  กล่าวว่า โอกาสที่สำคัญของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน APEC 2022 ซึ่งจะเป็นการเปิดประเทศไทยต้อนรับผู้นำที่จาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกเราจะสามารถแสดงศักยภาพและภาพลักษณ์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และอาหารแห่งอนาคต โดยภาคเอกชน ได้กำหนด Theme “Embrace  Engage  Enable” จะเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถ