posttoday

นครพนม ปั้นสินค้าGI 'ลิ้นจี่' ผลไม้เศรษฐกิจใหม่แหล่งผลิตใหญ่สุดอีสาน

01 กุมภาพันธ์ 2565

นครพนม โชว์ 'ลิ้นจี่'สายพันธุ์ นพ.1 สินค้า GI เกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่แหล่งผลิตอันดับหนึ่งในภาคอีสาน ลุยผลไม้เศรษฐกิจอนาคตรุกขยายตลาดทุกช่องขาย

นางสาวปวริศา ศิริกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต ลิ้นจี่ ในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดนครพนม ซึ่งนับเป็นจังหวัดที่ผลิตลิ้นจี่อันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565 พบว่า จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ 2,403 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1,217 ตัน ส่วนใหญ่อยู่ในอําเภอเมือง ท่าอุเทน และ ธาตุพนม เกษตรกรนิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 และให้ผลผลิตมากกว่า 30 ปี

โดยลิ้นจี่ มักจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนปลายมีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปี จากการลงพื้นที่ของ สศท.3 พบว่า เกษตรกรจังหวัดนครพนม นิยมลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เนื่องจากมีลักษณะเด่น เฉพาะตัว คือ มีผลใหญ่ เนื้อแห้งไม้เละ มีรสหวาน อมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่มีรสฝาด ทําให้เป็นที่นิยมรับประทาน และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (Geographical Indications หรือ GI) ตั้งแต่ปี 2560

สำหรับราคาต้นพันธุ์ นพ.1 อยู่ระหว่าง 80 - 100 บาท/ต้น (1 ไร่ นิยมปลูกประมาณ 25 ต้น) ต้นทุนการผลิตของพันธุ์ นพ.1 เฉลี่ย 5,597 บาท/ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 695 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ในรอบปี 2564 อยู่ระหว่าง 60 - 80 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นผลตอบแทน 41,700 - 55,600 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ระหว่าง36,100 - 50,000 บาท/ไร่/ปี

โดยเดือนมกราคม 2565 ลิ้นจี่ นพ.1 ของจังหวัดนครพนมกำลังติดผลอ่อน และคาดว่าจะเริ่มให้ผลผลิตในเดือนมีนาคม และผลผลิตออกจะมากในเดือนเมษายน 2565

สำหรับ ลิ้นจี่ นพ.1 ในพื้นที่ จ.นครพนม ส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 8 - 10 ปี ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งนับเป็น สายพันธุ์ที่ได้จากการกลายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนนครพนม (ศวพ.นครพนม) อีกทั้งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่จังหวัดนครพนมมีแผนส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาด ให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากตลาดต้องการสูง

ดังนั้น ลิ้นจี่ นพ.1 จึงนับว่าเป็นพืชอนาคตไกลที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และมีเกษตรกรเริ่มหันมาสนใจเพาะปลูก โดยปัจจุบันมีการรวมกลุ่มจัดตั้งแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 มีเกษตรกรสมาชิกประมาณ 60 รายซึ่งทางกลุ่มแปลงใหญ่ มีการทำ MOU การจําหน่ายลิ้นจี่ นพ.1 ล่วงหน้ากับไปรษณีย์ไทยออนไลน์ ทั่วประเทศ วางจําหน่ายในห้างสรรพสินค้าแม็คโคร/ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงส่งออกประเทศจีน โดยในปี 2565 ทางกลุ่มคาดว่าจะเพิ่มช่องทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ชิม ช้อป ที่สวนด้วย

นางสาวปวริศา กล่าว ในปี 2565 จังหวัดนครพนมมีการสนับสนุนเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ นพ.1 ภายใต้โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สําคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนมและมีคณะทํางานด้านการตลาดระดับจังหวัดเข้าขับเคลื่อนการค้าและจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อจําหน่ายเพิ่มเติมทั้ง ในรูปแบบออนไลน์ การทําเกษตรพันธะสัญญา และการสร้างเวทีการจับคู่ธุรกิจ จัดทําระบบคุณภาพ หรือ GAP เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรค อาทิ โรคใบจุดสนิม หรือจุดสาหร่าย โรคลําต้นและกิ่งแห้ง โรคราดํา โรคเปลือกผลไหม้ โรคผลแตก โรคผลร่วง โรครา น้ำค้างเทียม หรือโรคผลไหม้สีน้ำตาล และโรคผลเน่าภายหลังจากการเก็บ เพื่อลดการสูญเสียของผลผลิต และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ควรมีการใช้นวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และลดอัตราการเน่าเสียของผลผลิต

โดยหากท่านใดสนใจศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 หมู่ 2 บ้านขามเฒ่า ตําบลขามเฒ่า อําเภอเมือง จังหวัดนครพนม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณรัศมี อุทาวงศ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ นพ.1 โทรศัพท์ 081 320 1685 หรือ สํานักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โทรศัพท์ 0 4251 1215 ในวันและเวลาราชการ