posttoday

ปตท.สผ.กำไรปี’64 กว่า 3.88 หมื่นลบ.จ่ายปันผล 5 บาทต่อหุ้น

27 มกราคม 2565

ปตท.สผ.คาดยอดขายปิโตรเลียมปี’65 แตะ 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน ย้ำภารกิจสำคัญเร่งผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณตามสัญญา ขณะที่ปี’64 มีรายได้ 2.34 แสนล้านบาท

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับ 354,052 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันของปีก่อน โดยราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2654 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น  ส่งผลให้ในปี 2564 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  (เทียบเท่า 234,631  ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปี 2563

ขณะที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring items) โดยหลักมาจากการตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) ในโครงการโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 จากการปรับแผนการพัฒนา เนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศโมซัมบิก รวมถึง ผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ส่งผลให้ มีกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ 1,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 38,864 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 จากปี 2563

อย่างไรก็ตามจากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผล สำหรับปี 2564 ที่ 5 บาทต่อหุ้น โดยปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 2 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564  ส่วนที่เหลืออีก 3 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 และจะจ่ายในวันที่ 18 เมษายน 2565 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2565 แล้ว 

สำหรับแผนงานในปี 2565 นี้ บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 1/65 และทั้งปี 65 อยู่ที่4.36 แสนบาร์เรลต่อวัน และ 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ มีอัตราเติบโตจากปี 2564 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการในแปลงจี 1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัทจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเมื่อเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแล้ว บริษัทจะพยายามทำให้อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทย 

ด้านแผนงานในต่างประเทศ จะเริ่มการผลิตครั้งแรกในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้ในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆที่บริษัทสำรวจพบในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บในอ่าวไทย (Carbon Capture Storage – CCS) ตามนโยบายที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต