posttoday

"ศักดิ์สยาม" เดินหน้า "แลนด์บริดจ์" สั่ง สนข.พิจารณาแผนพัฒนาระยะยาว

27 มกราคม 2565

รมว.คมนาคม ติดตามความคืบหน้าผลศึกษาแลนด์บริดจ์ สั่ง สนข.พิจารณาแผนพัฒนาระยะยาว พร้อมศึกษา มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิต

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) . โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คณะกรรมการ หัวหน้าหน่วยงาน และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในแผนการดำเนินการศึกษาโครงการนี้จะต้องมีการศึกษาตัวเลขด้านเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนรวามถึงรายละเอียดของค่าก่อสร้างให้มีความชัดเจน เนื่องจากโครงการนี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งจากการศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลกที่มีการรองรับปริมาณสินค้าเทียบเท่าท่าเรือแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย พบว่า โครงการสามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ การเติมน้ำมันทางทะเล กิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จากการเป็นท่าเรือขนถ่าย หรือ Transshipment และการประมาณการรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต (Mega Trend) อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ยางพาราและปาล์มน้ำมันขั้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม Cold Chain การจัดเก็บและกระจายสินค้า เป็นต้น

"ศักดิ์สยาม" เดินหน้า "แลนด์บริดจ์" สั่ง สนข.พิจารณาแผนพัฒนาระยะยาว

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการให้ สนข. พิจารณาการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการในระยะยาวให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เต็มศักยภาพ โดยอาจจะมองว่าแลนด์บริดจ์ในระยะแรกจะเป็นเส้นทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางทะเล แต่เมื่อมีการพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วจะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค โดยให้พิจารณาต้นแบบจากท่าเรือในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จ และได้เน้นย้ำให้ สนข.และที่ปรึกษา ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องศึกษาออกแบบการพัฒนาโครงการต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังกำชับให้ศึกษามาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตให้รอบด้าน นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความรับรู้ให้กับภาคประชาชนและภาคสังคมเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติ รวมถึงให้ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย โดยจะต้องประสานข้อมูลไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไป