posttoday

BPP ทุ่ม 883 ลบ.ลงทุนโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม เร่งขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน

25 มกราคม 2565

บ้านปู เพาเวอร์ เดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม 2 แห่ง ควักเงิน 883 ล้านบาท สัญญา 20 ปี ทยอยเก็บพอร์ตพลังงานหมุนเวียนสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ในปี’68

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  บริษัทฯได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (SPA) ผ่านบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd. (BRES) เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกียลาย (Gia Lai) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในจังหวัดนินห์ถ่วน มูลค่าการลงทุนรวม 26.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 883 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นสัดส่วนการลงทุนจาก BPP และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 50 ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนส่วนของ BPP 13.35 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 442 ล้านบาท ส่งผลให้ BPP มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 25 เมกะวัตต์ เป็นการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนผ่านการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเป็นครั้งที่สองต่อจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญที่ลงนามสัญญาซื้อขายไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

BPP ทุ่ม  883 ลบ.ลงทุนโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม เร่งขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน

“BPP เดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง  2 แห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับดีเยี่ยมและยาวนาน มีราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 9.35 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดี รวมทั้งมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลถึงกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับอย่างมั่นคงในระยะยาว”

การลงทุนต่อเนื่องในเวียดนามครั้งนี้ เป็นตอกย้ำการเติบโตตามแผนกลยุทธ์ที่มุ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนความมุ่งมั่นในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ โดยมาจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และสอดคล้องตามหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี) เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ