posttoday

ม.หอการค้าฯชี้โอมิครอนส่งสัญญาณฉุดความเชื่อมั่นสะดุด

13 มกราคม 2565

ผู้บริโภคห่วงโอมิครอนกระทบการฟื้นตัวศก.แม้รัฐคลายล็อกดาวน์ดันดัชนีเชื่อมั่นเดือนธ.ค.พุ่งสูงสุดรอบ 9 เดือน ลุ้นสถานการณ์คลี่คลายสิ้น ม.ค. ส่งปัจจัยบวกจีดีพีฟื้นตัวไตรมาส 2

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 44.9 เป็น 46.2 ทุ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เนื่องจาก ศบค. ผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์เพื่อเป็นการรองรับมาตรการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) บินเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แม้ว่าศบค. มีคำสั่งยกเลิก Test & Go และให้ใช้ระบบกักตัว พร้อมปิดรับลงทะเบียนนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้าไทยตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564  จนถึง 4 มกราคม 2565 ก็ตาม 

นอกจากนี้การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยเที่ยวเพิ่มขึ้น

ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมีความกังวลเกี่ยวกับความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ที่มีการแพร่ระบาดในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ผู้บริโภคมองสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

“ยังหวังว่าสถานการณ์โอมิครอนจะเริ่มคลี่คลายได้ในช่วงปลายเดือนม.ค.ถ้ารัฐบาลมีการจัดการเรื่องค่าครองชีพที่สูงได้ ขณะที่เม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่งและช้อปดีมีคืน จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ในไตรมาส สิ่งสำคัญจะต้องไม่มีการล็อกดาวน์เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายโดยยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 4%”