posttoday

กกร.ถก 12 ม.ค. เล็งปรับเป้าจีดีพี ห่วงโอมิครอนทุบเศรษฐกิจไทย

11 มกราคม 2565

“สุพันธุ์” ชี้ ประชุมกกร. เล็งทบทวนเป้าหมายเศรษฐกิจปีนี้หลังโอมิครอนส่งผลกระทบภาคธุรกิจ จี้รัฐบาลยกระดับป้องกัน เร่งฉีดบูสเตอร์เข็ม 3 ประชาชนแนะรัฐไม่ควรล็อคดาวน์

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถานบัน (กกร.)ได้แก่  ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 12 ม.ค. จะมีการพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2565 โดยนำปัจจัยการแพร่ระบาดของโอมิครอนมาหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้ต้องทบทวนเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้หรือไม่ ทั้งการส่งออก และเงินเฟ้อ

“ผลจากโอมิครอนหากรัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนเป็นการแก้ไขที่ดี  การไม่ล็อกดาวน์ หรือคุมให้อยู่ในสถานการณ์เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโอมิครอนยังมีผลต่อการแพร่ระบาดที่รวดเร็วแต่อัตราการเสียชีวิตจะน้อยลง ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเห็นชัดในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะการยกเลิก Test & Go จะทำให้นักท่องเที่ยวหายไปทันที ดังนั้นตัวเลขที่คาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไฮซีซั่นคงต้องชะลออกไปก่อนขณะที่ในประเทศการจัดกิจกรรมต่างๆต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน”

สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 86.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์  ในประเทศภายหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า และการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ ในด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในประเทศเพิ่มขึ้นโดยผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย

ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,325 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 67.3 และสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 62.2 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 55.1, สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 44.0, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 43.5, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 40.8, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 38.5 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 95.2 จากระดับ 97.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เริ่มระบาดในประเทศไทยและในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงในประเทศภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการประกอบกิจการและฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565

นอกจากนี้ทางส.อ.ท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อนำประกอบการบริหารนโยบาย ดังนี้ 1. เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 (Booster) ให้กับประชาชน เพื่อลดโอกาศการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์  โอมิครอน (Omicron) และลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ   2. ยกระดับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยไม่นำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

3.การเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุข ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และโรงพยาบาล ตลอดจนสำรองยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)

4.เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ในการใช้สิทธิ ประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบความร่วมมือการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง RCEP ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา