posttoday

ATTA-TCEB ระดมไอเดียเสริมแกร่งเศรษกิจท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง หาโอกาสจากรถไฟเร็วสูงจีน-ลาว 

29 ธันวาคม 2564

รัฐ-เอกชนธุรกิจท่องเที่ยว เดินแผนขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางไมซ์ระดับภูมิภาค ผ่านโมเดล ‘Gastonomy’ เส้นทางเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-อาหาร นำร่องภาคตะวันออก รับเทรนด์โลกยั่งยืน 

จากการจัดงานประชุมสัมมนานานาชาติ GMS LOGISTIC TOURISM MICE & TRADE FORUM  จัดโดยสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) พร้อมด้วยพันธมิตรธุรกิจเอกชน และนักวิชาการ เพื่อระดมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ผลักดันให้ประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพผ่านการจัดประชุมและนิทรรศการ (ไมซ์) ระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(ATTA) กล่าวว่าการจัดงานฯครั้งนี้ เพื่อนำผลศึกษาและการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การจัดการประชุมและนิทรรศการ(ไมซ์)ระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีโอกาสในกลุ่มธุรกิจบริการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขง ท่ามกลางความท้าทายการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วง2 ปีที่ผ่านมา   

ด้าน นายวรทัติ กันติมงคลสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัทโลจิสติกส์ วัน จำกัด และเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา กล่าวว่าในฐานะผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาขิก(ไทย พม่า สปป.ลาว กัมพูชา จีน(ยูนนาน) และเวียดนาม) ซึ่งจะเป็นแพล็ตฟอร์มสำคัญในการสร้างความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุนร่วมกันในภูมิภาคนี้ 

ขณะที่การแพร่ระบาดโควิด-19ที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจด้วยกระทบด้านบริการขนส่งและกระจายสินค้า(โลจิสติกส์) และการเดินทางในภูมิภาคนี้ แต่จากการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว 

โดยภาคธุรกิจเอกชนไทยมองว่าเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจังหวัดเชียงราย(ไทย) เมืองคุนหมิง (จีน) และเวียงจันนท์(สปป.ลาว) และเป็นความท้าทายใหม่ในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในเส้นทาง R3A (แนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมการขนส่งทางบกระหว่างนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน กับกรุงเทพมหานครของไทย ผ่านสาม ประเทศคือ จีน-สปป. ลาว-ไทย)

นางศุภวรรณ ติระะรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ TCEB กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศอยู่บนเส้นทางการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่สำคัญ จากการเปิดโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยวผ่านการจัดงานไมซ์ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวคุณภาพ จากนักเดินทางที่มีกำลังซื้อสูง 

จากช่วงที่ผ่านมา TCEB ยังได้รับงบประมาณเพิ่มเติมด้านการจัดงานเฟสติวัลเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในประเทศ และกระตุ้นการขับเคลื่อน GMS Logistic Tourism & MICE ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมการค้าการลงทุน บนเส้นทาง R3A โดยขูจุดเด่นการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนแบบพิเศษเฉพาะ (Leisure Luxury) เส้นทางวัฒนธรรมท่องเที่ยวและอาหารในแต่ละภาคของประเทศ  

Gastonomy เส้นทางวัฒนธรรมแหล่งท่องเที่ยว-อาหาร 

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า บพข. ร่วมศึกษาวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมวางเส้นทางยุทธศาสตร์(โรดแมป) ผลักดันเศรษฐกิจการท่องเที่ยวคุณภาพ ในแต่ละภาคส่วน(เซ็คเตอร์)ที่มีศักยภาพของประเทศ 

อาทิ อุตสาหกรรม เกษตรการแพทย์ พลังงาน ดิจิทัล ท่องเที่ยว และ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อมีส่วนช่วยขับเคลื่อนผู้ประกอบการธุรกิจของไทย ผลักดันการท่องเที่ยวมิติใหม่ภายใต้ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Gastonomy เส้นทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-อาหาร ภายใต้โจทย์ใหญ่ ‘Carbon Neutral’ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ตามวาระโลก 

รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวนำเสนอผลงานวิจัยเส้นทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-อาหาร ‘Gastonomy’ โดยนำร่องเส้นทางการท่องเที่ยวภาคตะวันออกของไทย ใน3 จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี และ ตราด พบว่ามีอาหารไทยท้องถิ่นโบราณหลากหลายเมนูที่มีจุดเด่น อาทิ แกงหมูชะมวง ที่มีสูตรการปรุงอาหารและเรื่องราวน่าสนใจ ขนมจาก ขนมหวานไทยที่หาทานยากในปัจจุบันที่พบได้ที่ตำบลปากน้ำกระแส จังหวัดระยอง หรือ ข้าวเกรียบยาหน้า ของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นต้น โดยทีมผู้วิจัยฯพบว่าโมเดลการท่องเที่ยวดังกล่าวสามารถเข้ามาช่วยยกระดับเศรษฐกิจผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชุมชน ได้อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม      

“เป็นการทำแผนท่องเที่ยวมิติใหม่นำมาบูรณาการร่วมกับไมซ์ คือ การนำเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างจากเส้นทางท่องเที่ยวปกติ รองรับนักเดินทาง นักท่องเที่ยวคุณภาพ ไปเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารร่วมกับชุมชนที่รู้ลีก รู้จริง ซึ่งโครงการนำร่องนี้จะยังสร้างการเชื่อมโยงเส้นทางไป กัมพูชา เวียดนาม และต่อยอดธุรกิจชุมชนเชิงพาณิชย์อื่นๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต” รศ.ดร.พรรณี  กล่าว