posttoday

‘ชฎาทิพ’ เปิดเกมค้าปลีกดิจิทัลผ่าน ‘วันสยาม ซูเปอร์แอป’ รับอนาคตโลก Metaverse  

09 ธันวาคม 2564

ชฎาทิพ จูตระกูล นายหญิงสยามพิวรรธน์วางเกมอนาคตดิจิทัลค้าปลีก ผ่านแพล็ตฟอร์ม วันสยาม ซูเปอร์แอป เจาะลูกค้า Affluent ทั่วโลก   

’13 เดือน’ คือ ระยะเวลาในการพัฒนาระบบค้าปลีกหลังบ้านของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ภายใต้แอปพลิเคชัน ‘วันสยาม ซูเปอร์แอป’ หลังจากได้ ‘อริยะ พนมยงค์’ มาร่วมงานพร้อมรับตำแหน่ง ประธานบริหารสายงานนวัตกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงธุรกิจค้าปลีกด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital transformation) ให้กับสยามพิวรรธน์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ในปีที่ผ่านมา 

‘ชฎาทิพ’ เปิดเกมค้าปลีกดิจิทัลผ่าน ‘วันสยาม ซูเปอร์แอป’ รับอนาคตโลก Metaverse  

ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ‘ชฎาทิพ จูตระกูล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ต่อการนำกลุ่มธุรกิจค้าปลีก สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตร ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เดินหน้าไปสู่โลกค้าปลีกหลังโควิด-19คลี่คลาย ตัวเร่งพฤติกรรมผู้บริโภคเข้าสู่โลกดิจิทัล และ Metaverse ในอนาคตอันใกล้  

ชฎาทิพ ย้อนภาพกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน สยามพิวรรธน์นับเป็นรายแรกของวงการค้าปลีกที่ได้พลิกกลยุทธ์การทำธุรกิจ ด้วยการวางตำแหน่งให้ ‘ศูนย์การค้าไม่ได้เป็นเพียงที่ขายสินค้าหรือให้บริการต่าง ๆ แต่เป็นสถานที่ ที่จะนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่และยิ่งใหญ่ในทุกมิติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและมอบคุณค่าของการใช้ชีวิตแก่ผู้คน โดยความสำเร็จในการทำธุรกิจไม่ได้อยู่ที่ผลกำไร แต่คือการเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าของเราทั้งคนไทยและทั่วโลก’

กระทั่งปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจ ส่งผลให้ระบบนิเวศธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดโอกาสในการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลซึ่งกันและกัน โดยพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจพรีเมียมระดับโลก เพื่อเชื่อมคู่ค้าพันธมิตรจากทั่วโลก (Global Ecosystem) ให้เติบโตร่วมกันบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม 

“สยามพิวรรธน์ ใช้เงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สร้างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่และแอปพลิเคชันวันสยาม ซูเปอร์แอปขึ้น โดยมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจให้กับร้านค้าทั้ง4 ศูนย์ฯ รวมถึงพันธมิตรกว่า 1,000 แบรนด์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เราได้เชิญมาร่วมใน Global Ecosystem นี้” ชฎาทิพ กล่าว  

โดยแพล็ตฟอร์มนี้ยังจะเข้าถึงฐานลูกค้ากว่า 7 ล้านรายในกลุ่ม Affluent ทั่วโลก ของศูนย์การค้าทั้ง 4 แห่ง และรองรับเทรนด์พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าในโลกอนาคต ผ่านระบบ Loyalty Program ที่เพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าที่จะได้รับคืนเป็น VIZ COIN สกุลเงินดิจิทัลของสยามพิวรรธน์ พร้อมเตรียมแผนขยายการให้บริการครอบคลุมเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าในไตรมาสแรกของปีหน้า ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ 

ชฎาทิพ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันสยาม ซูเปอร์แอป จะเป็นแพล็ตฟอร์มที่เอื้อประโยชน์ในการสร้างพลังขับเคลื่อน ไปพร้อมกับเศรฐกิจแบ่งปัน ร่วมกับคู่ค้า พันธมิตรธุรกิจ และลูกค้าทั่วโลก ผ่านทั้ง4ศูนย์การค้า โดยยึดมั่นว่า ‘เก่งคนเดียวไม่ชนะ แกร่งคนเดียวก็ไม่ชนะ แต่จะต้องไปด้วยกันเพื่อสร้าง Shares Value และ Collaboration Win ให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมรองรับอนาคตโลก NFT และ Metaverse ในอนาคตอันใกล้ 

ดึงจุดแข็งแกร่งสยามพิวรรธน์สู่ ‘วันสยาม แอป’

ด้าน อริยะ พนมยงค์ กล่าวว่าแอปฯ ดังกล่าว ได้ดึงจุดเด่น หรือ DNA ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ มาใช้เป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนานวัตกรรมค้าปลีกดิจิทัล แอปพลิเคชัน จับกลุ่มเป้าหมาย Affluent เศรษฐีใหม่ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักกว่า 7 ล้านรายทั่วโลก 

“เป็นการดึงดีเอ็นเอของสยามพิวรรธน์ที่แตกต่างจากรายอื่น คือ ฐานลูกค้ากลุ่มแอฟลูเอนซ์ราว7ล้านคน ที่จะเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อการโฟกัสในสิ่งที่เราถนัด และมีจุดแข็ง เพื่อสร้างประสบการณ์และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ คือ Premium To Luxury Brand”  อริยะ ขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น 

ขณะเดียวกัน สยามพิวรรธน์ ยังให้ความสำคัญในด้าน Omnichannel ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายในอนาคต ด้วยผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความต้องการด้าน ‘ประสบการณ์จริง’ จากการเข้ามาสัมผัสบรรยากาศในศูนย์การค้าเช่นเดิม แม้จะมีความคุ้นเคยกับการจับจ่ายออนไลน์แล้วก็ตามในช่วงที่ผ่านมา  โดยมี แพล็ตฟอร์ม ค้าปลีก ดิจิทัล เข้ามาช่วยเสริม

พร้อมนำแนวทาง Marketing Technology และ Machine Learning เข้ามาร่วมวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจค้าปลีกในอนาคต ผ่าน Loyalty Engagement ต่างๆ ไปพร้อมกับสร้าง Affluent Community เพื่อรองรับกระแสใหม่ๆ ทั้งการใช้เงินเหรียญดิจิทัล สกุลต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการแลกของรางวัล หรือการสร้าง Common Currency ของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้านำคะแนนสะสมจากบัตรเครดิตต่างๆ มาใช้แลกเป็น VIZ COIN เพื่อจับจ่ายแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ด้วยเช้่นกัน 

โดยทั้งหมดนี้ เป็นจุดพลิกสู่การเริ่มต้นในการสร้างระบบนิเวศค้าปลีกพรีเมียม ระดับโลก เพื่อสร้างให้เป็นมากกว่า Retail Digital Asset โดยในปี 2565 พร้อมเปิดแผนค้าปลีกดิจิทัล เพื่อรองรับ Digital Goods, Digital Asset เพื่อเข้าสู่ NFT Marketplace เป็นอันแรก รวมถึงการนำสยามพิวรรธน์ เข้าสู่โลก Metaverse ต่อไป