posttoday

กกร.คาดจีดีพีปี’65 โต 3-4.5% ชี้’โอมิครอน’ปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่ต้องระวัง

08 ธันวาคม 2564

กกร.ห่วงโอมิครอนทำเศรษฐกิจสะดุด แนะรัฐออกมาตรการต่อเนื่องกระตุ้นกำลังซื้อครัวเรือน ประเมินปีหน้าจีดีพี แตะ 4.5%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผย ภายหลังการประชุม กกร. ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ะบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ขณะนี้บ่งชี้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถติดต่อไปยังผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่งผลให้หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการจำกัดการเดินทางหรือมาตรการจำกัดกิจกรรมอีกครั้ง

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยทั้งภาคการส่งออกและภาคบริการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ “โอมิครอน” อาจทำให้การฟื้นตัวต่อจากนี้ไปได้รับผลกระทบและต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่งเริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังการเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. ดังนั้น “โอมิครอน” จึงกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี 2565 นอกเหนือจากความท้าทายที่มีอยู่เดิม

ดังนั้นจำเป็นต้องจับตาปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความรวดเร็วของการแพร่ระบาดซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในปี 2565 แม้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุข และการเข้า-ออก ประเทศที่มีความเข้มงวด

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเห็นว่าไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป ทุกภาคส่วนควรปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ซ้ำเติม เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากบทเรียนของการล็อกดาวน์ว่ามีต้นทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมสูงมาก ทั้งผลกระทบโดยตรงจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทางอ้อมจากการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565 จำเป็นต้องมีนโยบายสำหรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นที่การฟื้นตัวล่าช้าออกไปภาคธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่พร้อมเพรียงกัน (K-shaped recovery) มาตรการพยุงเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็น

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวควรเแก้ไขโดยเร่งขึ้นทะเบียน และมี การจัดสรรวัคซีนให้ เพราะในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอมากขึ้น โดยในระหว่างนี้ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนรีบมาฉีดวัคซีน เพราะอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

สำหรับปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3- 4.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปีหน้าน่าจะเติบโตที่ 4-5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3- 5% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกจะมีการขยายตัวต่อจากปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2 – 2 % ซึ่งมาจากแนวโน้มของสินค้า Commodities มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และปีหน้าสิ่งที่ต้องจับตามองอีกเรื่องคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อง Geopolitics ของหลายประเทศ

ทั้งนี้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ กกร. คงคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 โดยที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 0.5-1.5% ขณะที่ส่งออกขยายตัวในกรอบ 13-15.% เนื่องมาจาก Demand เพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาคือการการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1- 1.2%  

นายสนั่น กล่าวว่ากกร. ยังได้หารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม เรื่องการเร่งปฏิรูปกฎหมาย (กีโยติน) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง โดย กกร.ร่วมกับ คณะกรรมการกิโยติน และ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เพื่อผลักดันกฎหมายสำคัญ ๆ ซึ่งทาง กกร จะมีการแถลงความคืบหน้าของการทำงานร่วมกันอีกครั้ง

ขณะเดียวกันกกร.ได้หารือและพิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่ได้มีการปรับปรุงล่าสุด (ฉบับที่ 2) ยังมีความกังวลในด้านการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใช้แล้วและรถจักรยานยนต์ รวมถึงเงื่อนไขการคืนรถ จบหนี้ ซึ่งยังส่งผลกระทบวงกว้างเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำ และภาคบริการ ตลอดจนการจ้างงาน จึงขอเสนอให้ สคบ.พิจารณาให้เป็นไปตามข้อเสนอของ กกร. ตามหนังสือลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุน SME ในการสร้าง Innovation ใหม่ๆ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมได้สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี (2565 - 2567) เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท โดยภาคเอกชนเสนอภาครัฐให้สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้