posttoday

ไทยพร้อมเจ้าภาพประชุม JTC ปี’65 ถกคู่ค้า 10 ประเทศ สร้างแต้มต่อสินค้า-บริการไทย

06 ธันวาคม 2564

‘จุรินทร์’ ไฟเขียวแผนประชุม JTC ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม กับคู่ค้าสำคัญกว่า 10 ประเท เน้นแก้ปัญหาอุปสรรค ขยายความร่วมมือศก.ผลักดันเจรจา FTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบแผนการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี กับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ประจำปี 2565 แล้ว โดยมอบให้กรมฯ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม JTC กับคู่ค้าสำคัญ กว่า 10 ประเทศ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และรูปแบบปกติ อาทิ ในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 จะจัดการประชุม JTC ไทย-อินโดนีเซีย เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายทางการค้า JTC ไทย-ภูฏาน เพื่อหารือความร่วมมือในสาขาท่องเที่ยว เกษตร หัตถกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือบก และในปี 2565 จะจัดการประชุม JTC กับมัลดีฟส์ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ กัมพูชา เกาหลีใต้ เวียดนาม รัสเซีย และยูเครน เพื่อหารือขยายการค้า การลงทุน ส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น นวัตกรรมและเทคโนโลยี เกษตร อาหาร ประมง การลงทุน การค้าดิจิทัล และการท่องเที่ยว  รวมทั้งผลักดันการเจรจา FTA กับสหราชอาณาจักร และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย เป็นต้น    

ทั้งนี้ไทยจะเข้าร่วมการประชุม JTC ที่ประเทศคู่ค้าเป็นเจ้าภาพ ทั้งการประชุมคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยการค้าและการลงทุนไทย-จีน เพื่อหารือเรื่องการเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ย การขยายการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (การประชุม JC เศรษฐกิจ ระดับรองนายกรัฐมนตรี) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี    การประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ เพื่อหารือความร่วมมือในสาขาเกษตร ประมง บริการสุขภาพ ปศุสัตว์ และความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA เป็นต้น

การประชุม JTC ที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้หารือกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า รวมถึงได้หาแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยในต่างประเทศได้มากขึ้น