posttoday

กู้ด่วน 2 หมื่นลบ. !! กองทุนน้ำมันเหลือเงินติดกระเป๋า 1,426 ลบ.

30 พฤศจิกายน 2564

สกนช.ร่อนหนังสือ 10 สถาบันการเงินปล่อยกู้กองทุนน้ำมันฯ 2 หมื่นลบ.อุ้มราคาน้ำมัน ยันฐานะกองทุนน้ำมันฯยังมีสภาพคล่องรองรับมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งหนังสือไปยังสถาบันการเงิน 10 แห่ เช่น ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน  เพื่อขอสนับสนุนวงเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องและดูแลราคาพลังงาน คาดได้รับเงินภายในเดือนเมษายน 2565  โดยยืนยัน ในช่วงรอยต่อ 4 เดือนก่อนได้รับวงเงินกู้ ทางกองทุนน้ำมันฯ ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ ล่าสุดคงเหลือสุทธิ 1,426 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศในช่วงภาวะวิกฤตไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563-2567 ซึ่งกำหนดไว้

3 แนวทางสำคัญ คือ 1. กรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับขึ้นเกินระดับที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งหมายถึงกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศสูงกว่า 30 บาท/ลิตร และราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เกิน 363 บาท/ถัง (15 กก.)2. กรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่า 5  เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ หรือ ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับขึ้นมากกว่า 1 บาท/ลิตร ใน 1 สัปดาห์ และราคาแอลพีจี ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า35 เหรียญmyom/ตัน หรือ ราคาแอลพีจีตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาท/กก. 

และ 3. กรณีสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ที่อาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน โดยการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว มุ่งเน้นการอุดหนุนและชดเชยในระยะสั้นชั่วคราวอย่างมีระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ

การดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผ่านมา ได้เข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขวิกฤตผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน ซึ่งในส่วนของสถานการณ์ราคาแอลพีจีได้เข้าไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคาแอลพีจี ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มีนาคม 2563 ไปแล้ว 13,251 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)ตั้งแต่เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2564 โดยมีการชดเชยไปแล้วกว่า 7,211 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564  มีจำนวน 1,426 ล้านบาท โดยมีวงเงินคงเหลือในบัญชีน้ำมันสุทธิ 22,400 ล้านบาท ส่วนบัญชีแอลพีจีมีวงเงินติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามล่าสุดเพื่อให้กองทุนน้ำมัน ฯ ยังคงมีสภาพคล่องในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อเนื่อง  โดยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ได้เห็นชอบให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินจากสถาบันการเงิน จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกระทรวงการคลังกำหนด

และล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2564 สาระสำคัญคือ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพิ่มกรอบวงเงินกู้จากเดิม 2 หมื่นล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาทเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่ระดับราคาจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคา น้้ามันเชื้อเพลิงในประเทศปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่อการดำรงชีพ ของประชาชน จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายวิศักดิ์ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนการกู้เงินไว้หลายกรณี โดยสมมติฐานที่แย่สุด ราคาน้ำมันดิบที่ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งวงเงินกู้ที่เสนอขอสถาบันการเงินไป จะเป็นลักษณะของการทยอยเบิกจ่ายตามสถานการณ์  คาดอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่  2.5-3%  เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งน่าจะเพียงพอในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันได้