posttoday

‘เอสเอ็มอี’จมพิษโควิด รอวันตายขาดสภาพคล่องเสี่ยงปิดกิจการ 40%

26 พฤศจิกายน 2564

ม.หอการค้าไทย ระบุ เอสเอ็มอีกระทบหนัก จี้รัฐเร่งปล่อยสินเชื่อพยุงธุรกิจใช้เงิน 2-3 แสนล้านบาท คาดมีโอกาสตกงานอีก 1-2 ล้านคน

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลสำรวจสถานภาพธุรกิจ เอสเอ็มอีไทย หลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข จากจำนวน 625 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า สถานภาพธุรกิจเอสเอ็มอีเมื่อเปรียบเทียบก่อนโควิด-19 ส่วนใหญ่มียอดขายลดลงเฉลี่ยร้อยละ 18.6 ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการค้าและบริการ  

ขณะที่ต้นทุนได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9  กำไรลดลงร้อยละ 20.6 และ คำสั่งซื้อลดลงร้อยละ 15.3 ส่งผลให้เอสเอ็มอี มีปัญหาขาดสภาพคล่องและมีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการร้อยละ 40.1%  แม้ว่าปัจจุบัน จะมีการคลายล็อกเปิดประเทศแล้วก็ตาม

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือเร่งปล่อยสินเชื่อโดยไม่เน้นการค้ำประกันเนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ที่จะมาค้ำประกัน  รองลงมาการลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุน  แม้ว่ารัฐจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาลดผลกระทบ แต่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้

นอกจากนี้ต้องการให้ภาครัฐผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนสามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากมี สัดส่วนต่อ จีดีพีถึงร้อยละ 20 คิดเป็นเม็ดเงิน 2-3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ยังคงต้องเปิดภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกันเพื่อสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อีกด้วย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มมีการคลายล็อกดาวน์แต่สังเกตได้ว่าการใช้จ่ายของประชาชนยังไม่เยอะกำลังซื้อยังไม่กลับมา ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังสูง มีปัญหาการว่างงาน  รวมถึงต้นทุนการผลิตที่ยังสูง และธุรกิจขาดสภาพคล่อง สิ่งสำคัญตอนนี้ต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอีมีอยู่ 3 ล้านราย หากใช้เงินเฉลี่ยรายละ 5 หมื่น -1 แสนบาท รัฐต้องใช้เงิน 2-3 แสนล้านบาท

“หากเกิดผลกระทบจนทำให้เอสเอ็มอีต้องปิดกิจการ 5% จะส่งผลให้รายได้ของประเทศสูญหายไปราว 3 แสนล้านบาท และมีคนตกงานเพิ่มอีก 1-2 ล้านคนดังนั้นสถานการณ์เอสเอ็มอีวันนี้คือรอวันตาย ถ้ายังไม่มีเม็ดเงินเข้ามาช่วย”