posttoday

อมาโด้ ลุยสายเขียวส่งแบรนด์ ‘อมาไพร’ ร่วมวงตลาดกัญชงขึ้นทะเบียนรายแรกในไทย 

25 พฤศจิกายน 2564

อมาโด้ กรุ๊ป รับนโยบายรัฐเปลี่ยน “กัญชง” เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่  เปิดตัวแบรนด์ “อมาไพร” น้ำมันเมล็ดกัญชง พลัส ลงตลาดรายแรกในไทย รับอนาคต 5ปีตลาดกัญชงเติบโต 126% ต่อปี 

นายธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ อมาโด้ (amado) เปิดเผยว่า อมาโด้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจในตลาดสมุนไพรกัญชง และเพื่อเพิ่มแนวทางและจุดแข็งของธุรกิจจึงนำแนวคิด “ธรรมชาติโภชนา” มาเสริมจุดแข็งความเป็นผู้นำตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เปิดสินค้าใหม่ในหมวดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มสมุนไพรภายใต้แบรนด์ “อมาไพร” 

สำหรับสินค้ารายการ(SKU)แรกของแบรนด์อมาไพร คือ  อมาไพร น้ำมันเมล็ดกัญชง พลัส (Amaprai Hemp Seed Oil Plus) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกัญชงตัวแรกของประเทศไทยที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีน้ำมันเมล็ดกัญชงเป็นส่วนประกอบหลัก เสริมประสิทธิภาพให้มากขึ้นด้วยน้ำมันจากธรรมชาติอีก 9 ชนิด ที่ผ่านกระบวนการสกัดเย็น

“สินค้าดังกล่าว จับกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และตอบโจทย์โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการบำรุงระบบประสาทและสมอง บำรุงกระดูกและข้อ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ” นายธนาตรัยฉัตร กล่าว  

อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาปลูกต้นกัญชงนานถึง 3-5 เดือน และขั้นตอนการเก็บเกี่ยว สกัดวิเคราะห์ และผลิตกว่า 45 วัน ทำให้มีสินค้าพร้อมจำหน่ายในล็อตแรกเพียง 10,000 กล่องเท่านั้น โดยบริษัทมีแผนจัดจำหน่ายผ่าน 3 ช่องทางหลัก 

คือ 1. ตัวแทนจำหน่ายอมาโด้ จำนวน 11.94 ล้านบาท คิดเป็น 60% 2. เทเลเซลล์ 5.97 ล้านบาท จำนวน คิดเป็น 30% และ 3. ช่องทางออนไลน์ของบริษัททั้งโซเชียลคอมเมิร์ซและอี-มาร์เก็ตเพลส จำนวน 1.99 ล้านบาท คิดเป็น 10% 

โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายยอดขายของล็อตแรก 10,000 กล่องยอดขายคิดเป็น 19.9 ล้านบาท โดย 1 กล่อง บรรจุ 20 แคปซูล ราคา 1,990 บาท และพร้อมวางจำหน่ายแล้ววันนี้ ทางตัวแทนจำหน่ายอมาโด้, Amado Shopping Call Center 1451 หรือทาง LineOA: @amaprai และสินค้าล็อตต่อไปจะพร้อมจำหน่ายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจนถึงไตรมาสแรกปี 2565 อมาโด้ตั้งเป้ามียอดขายจากอมาไพร น้ำมันเมล็ดกัญชง พลัส ถึง 120 ล้านบาท 

ด้านนางสาวจง ซาน ฟั่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่าข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดได้ประเมินว่าปี 2564 ยอดขายตลาดสินค้าสมุนไพรของโลกจะมีมูลค่า 204,070 ล้านบาทในปี 2563 หรือมีอัตราการเติบโต (CAGR) คิดเป็น 5.9% ในปี 2563-2570 ถือว่ามีการเติบโตสูงสวยสถานการณ์โลกที่โดนผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ผู้บริโภคจึงหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติและออแกนิกมากขึ้นจนเกิดกระแส Healthy Living 

สอดคล้องกับ อมาไพร น้ำมันเมล็ดกัญชง พลัส เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ 100% มีตราสัญลักษณ์ Vegan รับรอง ซึ่งแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของอมาโด้ได้พัฒนาสูตรให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง เพิ่มความหลากหลายของสินค้ากลุ่มสมุนไพรให้สามารถขยายฐานกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น 

“คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า แบรนด์อมาไพร คาดว่าจะแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดได้ถึง 10% จากมูลค่าตลาดสินค้าสมุนไพรไทยและสมุนไพรจีนในไทยรวมกว่า 40,867 ล้านบาท” นางสาวจง กล่าว

ขณะเดียวกัน จากภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกัญชงโดยปี 2564 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท คิดเป็น 46.6% รองมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาทคิดเป็น 40%  ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาทคิดเป็น 5% และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก 

โดย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท โดยอมาโด้ได้นำผลิตภัณฑ์ อมาไพร น้ำมันเมล็ดกัญชง พลัส ออกมาอย่างรวดเร็วและเป็นเจ้าแรกของตลาด พร้อมคาดว่าสินค้า 10,000 กล่องแรกจะสามารถแชร์ส่วนแบ่งการตลาดจากอุตสาหกรรมยาและอาหารเสริมจากกัญชงภายในสิ้นปีนี้ได้ 

ทั้งนี้ หลังจากหน่วยงานรัฐปลดล็อกใช้สารสกัด CBD เมื่อสิงหาคม บริษัทยังมีแผนออกสินค้าในกลุ่มที่ใช้สารสกัด CBD ในอาหารเสริมด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคในอนาคต โดยในปีหน้าบริษัทมีแผนพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ “ธรรมชาติโภชนา” พร้อมต่อยอดการเติบโตของบริษัทในอนาคต 

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า แผนธุรกิจดังกล่าวยังสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิตนำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ. 2563 เปลี่ยนจากกัญชงให้พ้นยาเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จะมีการพัฒนาและวิจัยกัญชงที่จะใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ทำยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เพราะกัญชงออกฤทธิ์กลุ่มเดียวกันกับกัญชา 

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ผลักดันกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพราะมีคุณสมบัติเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น และรักษาอาการปวดศีรษะ ขณะที่เปลือกและลำต้นเป็นเส้นใย เนื้อสามารถผลิตกระดาษได้ แกนนำไปทำเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงเพื่อแก้ไขกฎกระทรวงเดิมที่มีความเข้มงวด โดยกฎหมายใหม่นั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการพัฒนาประเทศ และเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร 

โดยข้อมูลอ้างอิงงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประมาณการมูลค่าอุตสาหกรรมกัญชงของไทยไว้ ณ กรกฎาคม 2564 หลังจากการปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชงได้เชื่อมโยงไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ด้วยมูลค่าตลาดกัญชงรวมประมาณ 15,800  ล้านบาท และใน 5 ปีข้างหน้าหรือสิ้นปี 2568 จะเติบโตเฉลี่ย 126% ต่อปี