posttoday

อธิบดีธนารักษ์เดินหน้าหลังศาลปกครองไม่คุ้มครองประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี

18 พฤศจิกายน 2564

จับตา ”ประภาศ คงเอียด” จะลุยเซ็นสัญญาเอกชนรายใหม่หรือไม่หลังศาลปกครองยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ตามที่บ.อิสท์วอเตอร์ฟ้องฐานฝ่าฝืนมติครม.ในโครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี

เมื่อวันที่18พ.ย.2564 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคุ้มครองชั่วคราวโครงการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ที่ได้ผู้ชนะเอกชนรายใหม่ หลังจากที่ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTWATER ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิมที่จะสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ยื่นฟ้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อปกครองให้ยุติกระบวนการคัดเลือกชั่วคราว โดยคำสั่งของศาลปกครองที่ออกมานั้น ทำให้กรมธนารักษ์สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้

อย่างไรก็ตามในส่วนจะมีการลงนามสัญญาเอกชนรายใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเมื่อใดนั้น หลังจากนี้กรมธนารักษ์คงต้องมาพิจารณารายละเอียดขั้นตอนอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการได้แค่ไหนอย่างไร ต้องคำนึงถึงกระบวนการศาลด้วย เพราะยังมีคดีหลักที่ EASTWATER ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในส่วนของกระบวนการคัดเลือกที่บริษัทรายเดิมเห็นว่าทำผิดหลักเกณฑ์ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการอีกครั้ง ซึ่งกรมจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการที่ราชพัสดุว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานว่า การคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว โดยกรมธนารักษ์มีหนังสือเชิญบริษัทที่มีคุณสมบัติเพียง 3 ราย ให้มายื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกครั้งนี้ จากนั้นในวันที่ 30 ก.ย. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้บริษัทเอกชนรายใหม่ เป็นผู้ได้รับคัดเลือกในการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกแทนบริษัทรายเดิม มีอายุสัญญา 30 ปี โดยกรมธนารักษ์จะได้รับผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 30 ปีเป็นจำนวนเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับ บริษัท อิสท์ วอเตอร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราวเนื่องจากมองว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กรมธนารักษ์ต้องเจรจากับบริษัทรายเดิมก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 3 ปี

นอกจากนี้ การดำเนินการคัดเลือกครั้งนี้อาจจะไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้การดำเนินการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และให้บริการน้ำในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นหลักการที่เป็นสาระสำคัญ ดังนั้น แม้ว่าจะใกล้สิ้นสุดอายุของสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.67 แต่เป็นพันธะของกรมธนารักษ์ ที่จะต้องพิจารณาจัดทำสัญญาฉบับใหม่เพื่อให้บริษัทรายเดิมเป็นผู้ใช้และบริหารโครงการท่อส่งน้ำต่อไปตามมติครม. เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้