posttoday

หอการค้าอเมริกันพร้อมสนับสนุน-ลงทุนในไทยเพิ่ม

18 พฤศจิกายน 2564

นายกฯ หารือ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ตัวแทนภาคเอกชนขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญ ย้ำความพร้อมในการสนับสนุนร่วมมือนายกฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาาณ์ภายหลังคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (American Chamber of Commerce in Thailand: AMCHAM) เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ร่วมด้วย โดยนายกฯ กล่าวว่า การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เราต้องอยู่กับโรคยุคโควิดและหลังโควิด ตามมาตรการและนโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดออกมาแล้ว วันนี้ได้มีความคืบหน้าในหลายประการ

ซึ่งตนได้ประชุมร่วมกับคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลายร้อยบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการพูดคุย ทั้งในส่วนของวิกฤตและโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือ ซึ่งทางคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตนได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาล รวมทั้งแนวทางของคณะทำงานในทุกๆ มิติออกไป ซึ่งเขาก็มีความพึงพอใจและรับว่าจะร่วมมือกับไทยในสิ่งอันที่ไทยจะเจริญเติบโตและก้าวหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบการของธุรกิจข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงมายังธุรกิจขนาดเล็ก

ซึ่งวันนี้ก็มีสมาชิกของคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยหลายบริษัทด้วยกันที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็หวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าและระยะต่อไปตามนโยบายของรัฐบาล คือการประกอบการและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในเรื่องของภาวะโลก เศรษฐกิจใหม่ของเรา การลงทุนใหม่ๆ ตอบวาระของโลก รวมทั้งโลกร้อน เศรษฐกิจสีเขียว BCG

“ทั้งหมดผมได้กล่าวไปกับกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งทุกคนยอมรับและชื่นชมในแนวทางและวิสัยทัศน์ของพวกเรา ของประเทศไทยในการเดินหน้าประเทศ ขอฝากไปถึงประชาชนทุกคน ภาคเศรษฐกิจของไทยทุกคนขอให้ติดตามในการทำงานร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ในหลายกลุ่มด้วยกัน วันนี้เป็นกลุ่มของประเทศสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจขนาดใหญ่ มีการลงทุนในประเทศไทยแล้วประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็รับว่าจะขยายการลงทุนในไทย ซึ่งผมได้เน้นในเรื่องของพลังงาน ดิจิทัล เทคโนโลยี เรื่องการลงทุน การวิจัยและพัฒนา เรื่องสุขภาพการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาโดยการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่อื่นๆ มีนโยบายที่ได้กำหนดลงไปแล้ว” นายกฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ได้มีการสอบถามสถานการณ์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองของไทยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่มี เขาไม่ห่วง เขาชื่นชมด้วยซ้ำไป เขาไม่พูดถึงเลย เขาชื่นชมการทำงานของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายของนายกฯ ชื่นชม ไม่มีใครพูดถึง ผมว่าวันนี้เอาประเทศไทยให้รอดก่อน เอาเศรษฐกิจให้รอด เอาโควิดให้รอดก่อนเถอะ เพราะเรื่องอื่นๆพอได้แล้ว เรื่องการเมืองไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอเถอะ ขอกัน”

โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ พร้อมขอบคุณ AMCHAM และภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ในรูปแบบ Next Normal และการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมขอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป

นาย Gregory Wong ประธาน AMCHAM กล่าวว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้พบปะกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนสมาชิกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 400 คน โอกาสนี้ ประธาน AMCHAM เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก พร้อมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้รับคะแนนดีเยี่ยมจากภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในเรื่องของการเปิดกว้างและการปรับตัว การประชุมในวันนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปิดรับและยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ประธาน AMCHAM แสดงความประทับใจต่อแผนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกประเด็น รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย โดยขอให้ไทยมอง AMCHAM เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทยอย่างดีเยี่ยม

โอกาสนี้ ตัวแทนจากบริษัท 3 ประเภทหลัก ได้แก่ บริษัทข้ามชาติ บริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ลดอุปสรรคในการลงทุน โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนและกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ทั้งนี้ตัวแทนจากบริษัทฯ ประทับใจนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของรัฐบาลไทย

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแนวนโยบายของไทย โดยกล่าวถึงสถานการณ์โควิด - 19 ในประเทศว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตวัคซีน AstraZeneca ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนให้แก่ไทยและภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีความสมดุลระหว่างการป้องกันโรคกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบาย Smart Control and Living with COVID-19 รวมถึงมีการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดยรัฐบาลให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างการดําเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และเกิดผลเป็นรูปธรรม ที่เมืองกลาสโกว ตลอดจน ไทยส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านนโยบายพลังงาน 4D1E และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles: EV) ผ่านนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินดีร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างห่วงโซ่ อุปทานที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคตามนโยบาย Thailand+1

นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในอนาคตและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ตามกรอบ Digital Thailand และนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การส่งเสริม e-commerce การส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจ digital startup การบริหารการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนากฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเขตนวัตกรรม EECd

อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยมีความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้ 1. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน 2. การพัฒนาการให้บริการของภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 3. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าถึงและขยายช่องทางการตลาดทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนงานบริการของภาครัฐแก่ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) 12 ประการ และมาตรการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ผ่านการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว

สำหรับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านด้วยแนวคิด BCG ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2. การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3. การฟื้นฟูความเชื่อมโยง ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรวมถึงภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนความต่อเนื่องในการผลักดันประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน ในการส่งต่อวาระเจ้าภาพจากไทยไปสู่สหรัฐฯ ในปี 2566 ต่อไปด้วย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยขอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมเชิญชวนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยและภูมิภาค ผ่านการเพิ่มพูนความร่วมมือและการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ เพื่อการเติบโตไปด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเราไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน พร้อมทั้งขอบคุณ AMCHAM โดยนายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับและพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี และพร้อมร่วมมือกับ AMCHAM อย่างเต็มที่