posttoday

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ชวนเช็คอิน “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา”ป่าพรุสูงสุดในไทย

15 พฤศจิกายน 2564

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ส่งมอบพื้นที่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่ดอยอินทนนท์ พร้อมพัฒนาแอปฯอ่างกา Virtual 360 องศา เพิ่มช่องทางเที่ยวแบบออนไลน์

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้ส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่ปรับปรุงใหม่ พร้อมป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทาง และแอปพลิเคชันอ่างกา Virtual 360 องศา ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ    สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเข้าใจถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวและร่วมตระหนักถึงบทบาทของทุกคนในการร่วมดูแลรักษาป่า

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเอ็กโก กรุ๊ปให้ความสำคัญต่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินภารกิจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยว มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ การอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างมีความหมาย และร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของไทย นอกจากเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวแล้วยังเป็นผืนป่าต้นน้ำที่มีระบบนิเวศ ที่หาได้ยากยิ่งรูปแบบหนึ่งของไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่มีคุณภาพเป็นต้นกำเนิดลำน้ำแม่กลาง ก่อนไหลลงสู่แม่ปิง และยังเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ผืนป่าอ่างกาจึงมีคุณค่าและความสำคัญต่อระบบนิเวศและประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การรักษาและส่งเสริมให้ผู้มาเยี่ยมเยือนมีความรู้ ความเข้าใจ ในคุณค่าของผืนป่าสำคัญแห่งนี้

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ชวนเช็คอิน “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา”ป่าพรุสูงสุดในไทย

“จากความสำคัญของพื้นที่และภารกิจดังกล่าว นำไปสู่การร่วมปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา จากเดิมที่ ได้สำรวจและออกแบบไว้เมื่อปี 2534 โดยปรับปรุงเป็นเส้นทางเดินไม้ยกระดับที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นมิตรและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาป้ายสื่อความหมายในเส้นทาง 11 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ ผู้มาเยือนตลอดเส้นทางนอกจากนี้ ในยุคนิวนอมอลที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงธรรมชาติ มูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “อ่างกา Virtual 360 องศา” เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศาผ่านระบบออนไลน์ด้วย” นายเทพรัตน์กล่าว 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ร่วมมือกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาจนปัจจุบันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 ซึ่งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

“อ่างกาเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นป่าพรุภูเขาที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายของพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตที่พบได้ยาก เนื่องจากสภาพพื้นที่หนาวตลอดทั้งปี และมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของป่าดึกดำบรรพ์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญและเสน่ห์ของผืนป่าให้กับนักท่องเที่ยวและผู้คนในวงกว้าง การปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ  อ่างกาให้มีความสมบูรณ์พร้อม โดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ควบคู่กับการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ที่มีความเปราะบาง จึงเป็นความร่วมมือที่สำคัญและเป็นต้นแบบการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน” นายธัญญากล่าว

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกามีลักษณะเป็นวงกลม ระยะทางรวม 320 เมตร แม้เป็นเส้นทางที่มีระยะสั้นแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบริเวณนี้ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น เป็นแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า จึงเหมาะสำหรับการเดินศึกษาธรรมชาติในระยะสั้น แต่ได้เรียนรู้และดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ อีกทั้งเส้นทางนี้อยู่ห่างจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยเพียง 50 เมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้ง 2 แห่งได้ภายในวันเดียวกัน