posttoday

เคเอฟซี ถอดบทเรียน 2 ปีโควิด ปรับใหม่กลยุทธ์-ตั้งรับทุกสถานการณ์ บุกธุรกิจอาหาร QSR สองหมื่นล้านปี65 

08 พฤศจิกายน 2564

ซีอาร์จี เผยร้านอาหาร QSR มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทติดลบ ช่วงโควิดระบาด2ปี ส่งแบรนด์ KFC รุกตลาดผ่านโมเดลสาขาแนวคิดใหม่ ดึงร้านกาแฟพรีเมียมญี่ปุ่น KFC Cafe’ by Arigato หวังฟื้นบรรยากาศดึงลูกค้าคืนกลับมานั่งทานในร้านปีหน้า

นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นจากปี 63 อาจจะเล็กน้อยเพียง 1.4 - 2.6% (อ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกร) โดยที่จะมีไฮไลท์ คือการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เริ่มคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่มากขึ้น 

“ช่วงก่อนวิกฤตโควิดเมื่อสองปีก่อน ตลาดร้านอาหารบริการด่วน QSR มีมูลค่ารวมกว่า สองหมื่นล้านบาท แต่ในช่วงโควิดแพร่ระบาด ตลาดขยายตัวติดลบราว5% จากเดิมที่เคยเติบโตราว8-10%” นายปิยะพงศ์  กล่าว 

ขณะที่ ในปีนี้แจึงยังคงเป็นปีที่ท้าทายของตลาด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ทุกแบรนด์ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะในแง่ของอาหาร ช่องทางการตลาด รวมถึงช่องทางการขายก็เปลี่ยนไป ซึ่งช่องทางที่เป็นช่องทางที่โตขึ้นมามากจากปี 63 คือช่องทางเดลิเวอรี่ ที่มีการแข่งขันกันมากในตลาด ด้วยแทบจะเป็นช่องทางเดียวที่ทุกแบรนด์จะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์โควิด และการล็อคดาวน์ โดยจะเห็นได้จากการแข่งขันกันในด้านโปรโมชั่นที่ค่อนข้างรุนแรงในทุก ๆ แบรนด์

สำหรับ ซีอาร์จี ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ส่งผลต่อยอดขายแบรนด์ เคเอฟซี ในช่วง Q1-Q3 ของปี 64 จากที่ได้ประมาณการไว้ จึงปรับแผนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ อาทิ การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เน้นการเข้าถึงลูกค้าในช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่มากขึ้น เนื่องด้วยยอดการสั่งเดลิเวอรี่ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตกว่า 30% รวมถึงการโฟกัสบริการที่ตอบโจทย์วิถี New Normal อาทิ การให้บริการผ่าน Drive Thru ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น รวมถึงยังมีบริการ Self-Pick up คือ ให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านเว็ปไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่น เพื่อมาถึงร้านก็สามารถรับสินค้าได้เลย ไม่ต้องรอ ซึ่งนอกจากจะสะดวกและรวดเร็วแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสบายใจให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการอยู่ในร้านนาน ๆ อีกด้วย

ในส่วนของจุดแข็งของแบรนด์ เป็นเรื่องของชื่อเสียงของแบรนด์ที่เป็น Global Brand ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในเรื่องของมาตรฐาน ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติงานของพนักงาน ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่ว่าจะมาใช้บริการที่ร้านในรูปแบบไหนก็สามารถมั่นใจได้ในความปลอดภัย

โค้งสุดท้ายปี64 ซีอาร์จี - เคเอฟซี ปรับแผนบุกรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ 

เคเอฟซี ถอดบทเรียน 2 ปีโควิด ปรับใหม่กลยุทธ์-ตั้งรับทุกสถานการณ์ บุกธุรกิจอาหาร QSR สองหมื่นล้านปี65 

เคเอฟซี ถอดบทเรียน 2 ปีโควิด ปรับใหม่กลยุทธ์-ตั้งรับทุกสถานการณ์ บุกธุรกิจอาหาร QSR สองหมื่นล้านปี65 

นายปิยะพงศ์ กล่าวว่าซีอาร์จี พร้อมทำตลาดเชิงรุกในธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ KFC ต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดสาขาที่ 300 ในคอนเซ็ปต์ใหม่ Chick n’ Chill โดยปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า สาขาล่าสุดที่เซ็นทรัล ศรีราชา 

ด้วยการประยุกต์ Local Art and Crafts และกลิ่นอายของทะเลศรีราชาเข้าไปที่มุมด้านในของร้าน โดยเลือกใช้คลื่นทะเลที่ให้ความเป็นศรีราชา ผสานเข้ากับความเป็นเอกลักษณ์ของ เคเอฟซี ได้อย่างลงตัว และยังคงมีความทันสมัยด้วยมุมถ่ายรูป ให้ลูกค้าได้แชร์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างตัวแบรนด์ เคเอฟซี กับกลุ่มลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น และให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชา ที่ตั้งใจจะให้เป็น destination ของการพักผ่อนหย่อนใจของชาวศรีราชา

และเพื่อตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ เคเอฟซี ยังได้เพิ่มหลากหลายโมเดล และขยายสาขาโมเดลใหม่ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า พร้อมมองหาพื้นที่ใหม่ๆ และเอื้ออำนวยต่อธุรกิจในรูปแบบใหม่ซึ่งก็คือเดลิเวอรี่และออมนิชาแนล โดยจะเน้นการเจาะไปที่มหาวิทยาลัย, อาคารสำนักงาน เพื่อเสิร์ฟความอร่อยให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และพนักงานออฟฟิศ แบบถึงที่ 

รวมทั้งตอบโจทย์ urban lifestyle ด้วยบริการ self-pick up ที่ลูกค้าสามารถสั่งผ่านมือถือได้ล่วงหน้า แล้วแวะมารับที่ร้านเพื่อความรวดเร็ว โดยเป้าหมายในการขยายสาขาในปีนี้ (2564) มีแผนขยายสาขาเพิ่มจำนวน 18 สาขา หรือเพิ่มขึ้น 8% และแผนของปี 2565 ตั้งเป้าเปิดจำนวน 30 สาขา หรือประมาณ 10% ของจำนวนสาขาเดิม

นายนายปิยะพงศ์ กล่าวว่า แบรนด์เคเอฟซี บริหารโดยซีอาร์จี ยังได้ผนึกแบรนด์ในเครือเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยต่อยอดแบรนด์แฟรนไซส์ กับแบรนด์ในเครือ ให้เติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันโดยเปิดตัว “KFC Cafe’ by Arigato” ด้วยจุดแข็งของ เคเอฟซี คือ เมนูไก่ทอด ซึ่งเน้นการขายแบบอาหารมื้อหลัก และ อาริกาโตะ แบรนด์เครื่องดื่มนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มีจุดเด่นในเรื่องเครื่องดื่มกาแฟและชาเขียวที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม 

โดยการร่วมมือกันเปิดตัว “KFC Cafe’ by Arigato” จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มให้กับทาง เคเอฟซี อีกทั้งช่วยสร้างการรับรู้ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแบรนด์ อาริกาโตะ ให้กับลูกค้าทั่วประเทศได้ทั่วถึงและเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าปีสิ้นปี 64 นี้ จะมีจำนวนสาขา “KFC Cafe’ by Arigato” กว่า 220 สาขา

สำหรับการตลาดออนไลน์ในช่องทางเดลิเวอรี่ เคเอฟซี ร่วมดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการส่งอาหาร (Food Aggregators) ชั้นนำของประเทศทุกราย อีกทั้งยังมีช่องทาง Call Center 1150, Application KFC, และเว็ปไซต์ www.kfc.co.th อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น QSR (Quick Service Restaurant) ที่มีสัดส่วนการตลาดใหญ่ที่สุดในทุก ๆ แพลตฟอร์ม

สำหรับการตลาดออฟไลน์ จะมุ่งเน้นการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าโดยเฉพาะการที่ลูกค้ามาทานอาหารที่ร้านมากขึ้นตั้งแต่การตกแต่งร้าน เมนูใหม่ ๆ ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้า รวมถึงโปรโมชั่นที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึง เคเอฟซี ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

“แนวทางดังกล่าว เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ซึ่งการสร้างประสบการร์ใหม่ๆภายในร้านสาขาเคเอฟซี จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างบรรยากาศเพื่อดึงลูกค้าให้กลับมานั่งรับประทานอาหารภายในร้านเพิ่มขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย” นายปิยะพงศ์ กล่าว 

ขณะที่ความท้าทายในการทำธุรกิจร้านอาหาร QSR ในปีหน้ามองว่า ยังเป็นเรื่องของ “STAFF” พนักงาน ที่จะกลับเข้ามาสู่ระบบธุรกิจร้านอาหาร ทั้งเรื่องจำนวนบุคลากร การบริหารจัดการด้านทักษะต่างๆ รวมถึงในปีหน้ายังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อตั้งรับกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นกัน