posttoday

จาก Digital สู่ Metaverse Economy ไทยพร้อมแค่ไหน?

07 พฤศจิกายน 2564

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ "Metaverse Economy" จะเกิดขึ้นเป็นภาคต่อยอดของ Digital Economy และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย แต่ขณะเดียวกันจะทำให้ธุรกิจรูปแบบเดิมถูกDisrupt อย่างรุนแรง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการทางวิชาการ ม. รังสิต เปิดเผยว่า Metaverse Economy จะเกิดขึ้นเป็นภาคต่อยอดของ Digital Economy ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วและแรงกว่า Digital Economy แบบเดิม

ที่ผ่านมา Digital Economy ที่มีปัจจัยสำคัญคือ Social Media ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีในการพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศและหลายธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ Metaverse Economy จะใช้เวลารวดเร็วกว่านั้นมาก

นายอนุสรณ์ระบุว่า ไทยมีความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในระดับต่ำถึงปานกลาง เพราะทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการและโครงสร้างพื้นฐานยังมีความพร้อมไม่มากนัก และจะอยู่ในฐานะผู้ซื้อและผู้ใช้เทคโนโลยีต่อไป ไม่ใช่ในฐานะผู้ผลิตหรือสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์และสร้างนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ (Economic implications) ได้จาก Metaverse Economy เพราะ ในโลกใหม่ที่เป็นการหลอมรวม โลกจริง กับ โลกเสมือนจริงผ่าน 3D virtual universe จะสร้างโอกาสเศรษฐกิจมากมาย และเป็นการทดลองครั้งสำคัญของ Virtual Economics

Metaverse จะทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบ Remote Work ขึ้นอย่างมากมาย และ เป็นโอกาสของธุรกิจ Home Stay กิจการอสังหาริมทรัพย์บางประเภทและภาคท่องเที่ยวไทย

การซื้อขายทางออนไลน์จะเปลี่ยนจากการเห็นเพียงข้อมูล รูปภาพหรือเสียง เป็น ความสามารถในการสัมผัสสินค้าหรือบริการได้ และจะมีการพัฒนาสินค้าในรูปของดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เทคโนโลยีเสมือนจริงจะทำให้ภาคผลิตลดต้นทุนอย่างมหาศาล ขณะที่ความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงขึ้น

นายอนุสรณ์ ประเมินว่าการเกิดขึ้นของ Metaverse จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง "Disrupt" ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน และแนวโน้มนี้จะมาแรง เร็วและยาวนาน

การพัฒนาขั้นสูงสุดของอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับ Metaverse เมื่อบวกเข้ากับ Quantum Computing แล้วจะไปไกลกว่าอินเทอร์เนตในปัจจุบันมากมาย ด้วยเทคโนโลยี 5G (และ 6G และ 7G ที่กำลังจะตามมา) รวมทั้งเทคโนโลยี VR, AR ด้วย Blockchian, NFTs, Machine learning (AI)

"ตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างจะพร้อมแล้วที่จะทำให้ โลกกายภาพกับโลกดิจิทัลจะเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ Metaverse จะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนหนึ่งจากการผลิตสินค้าและการให้บริการใหม่ ในขณะที่ตลอดทั้งกระบวนการของโครงสร้างนี้จะไป Disrupt กิจการเดิมและตลาดแรงงานเดิมค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน" นายอนุสรณ์ ระบุ

สำหรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์เต็มที่และมีการขยายตัวสูง คือ กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม 5G-6G ที่ให้บริการโครงข่ายมือถือและ fixed Broadband จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ กลุ่มสินค้าไอทีและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ได้ประโยชน์เต็มที่ ธุรกิจฟินเทคและธุรกิจเพลตฟอร์ม ธุรกิจบันเทิงและการทำงานเสมือนจริง

ขณะที่ในระยะยาวแล้วกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ กิจการค้าปลีกแบบเดิม กลุ่มธุรกิจธนาคารและการลงทุนแบบเดิม ธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนหรือคนกลางในภาคท่องเที่ยว ภาคการศึกษา ภาคบริการการเงินและการลงทุน ธุรกิจให้เช่าสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่

ส่วนกิจการพลังงานแบบเดิม น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ในระยะยาวอุปสงค์จะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ

ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริหารหลายอย่างจะหายไปจากตลาดและถูกแทนที่โดยสินค้าและบริการใหม่ๆจากผลของ Metaverse และ Quantum Computing ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบการเงิน การท่องเที่ยว ความบันเทิง ระบบทำงาน ยังคงทำหน้าที่ แต่จะมีรูปโฉมใหม่ และ รูปโฉมใหม่นี้จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่และเป็นความคุ้นชินใหม่โดยเฉพาะในสังคมหรือในประเทศที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี

ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นหากการเข้าถึงต่างกันมาก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ไขให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสถาบันและกฎระเบียบให้สนับสนุนการเติบโตและการเข้าถึงอย่างเสมอภาค การปล่อยให้เพียงแค่กลไกปกติของกลไกตลาดจะเกิดความล้มเหลวในการเข้าถึงเกิดขึ้นโดยทั่วไป ต้องเข้าถึงได้ทุกคนไม่ใช่เฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

นายอนุสรณ์ ระบุว่า ตำแหน่งงานจำนวนมากๆจะหายไปเช่นเดียวกับที่เราเกรงว่าระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะจะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ หากเศรษฐกิจไหนหรือสังคมไหนไม่เตรียมรับมือให้ดีจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ Megaverse, Quantum computing จะทำให้เกิดงานและลักษณะงานใหม่ๆและตำแหน่งงานใหม่ๆที่ไม่เคยมี ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา

การใช้พลังงานฟอสซิลดั้งเดิมเพื่อการเดินทาง ขนส่งของระบบเศรษฐกิจโลกจะลดลงอย่างมหาศาล ส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศหรือ Eco System ของ Metaverse จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงขอเสนอเพิ่มงบลงทุนวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล

รัฐบาลต้องปรับงบประมาณ 2565 และ วางแผนงบปี 2566 ให้นำไปใช้ส่งเสริมงานวิจัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ นอกจากนี้การลงทุนวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์นาโน (Nano-Robot) จะเป็นการพลิกโฉมวงการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคต ควรส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานทางวิจัยศึกษาเรื่อง Micro and Nabo-robotic Technology for medical and Pharmaceutical Application

นอกจากนี้ควรมีงบประมาณในการจัดหาหุ่นยนต์ที่ใช้ในการติดตามผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย ทั้ง COVID และ Non-COVID เป็นหุ่นยนต์ที่แพทย์สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านระบบเครือข่ายโดยคอมพิวเตอร์ส่วนตัว โดยหุ่นยนต์จะมีกล้อง จอภาพ ไมโครโฟนและลำโพงเสียง รวมทั้ง หุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ทำงานพื้นฐานซึ่งมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งผลิตได้แล้ว รัฐบาลควรมีการส่งเสริมให้ หน่วยวิจัยเหล่านี้ในมหาวิทยาลัยจับคู่กับผู้ประกอบการเพื่อสามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและมีแรงจูงใจเชิงพาณิชย์ เช่น หุ่นยนต์ส่งของในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยยกผู้ป่วยขึ้นเตียง หุ่นยนต์เช็ดตัวผู้ป่วย วัดอุณหภูมิ วัดและทดสอบการติดเชื้อ ขณะนี้ หุ่นยนต์ทางการแพทย์มีความสำคัญมากเพื่อลดการติดเชื้อของบุคลากรทางแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งการหลอมรวม (Convergence) บูรณาการ (Intergration) และการทำงานแบบเครือข่าย (Internetworking) มีการหลวมรวมของภาคเศรษฐกิจสำคัญและกิจการหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น การหลอมรวมกิจการทางด้านโทรคมนาคม กับ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ สื่อสารมวลชน มีการบูรณาการกันระหว่างธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมกับธุรกิจบริการทางการเงิน มีการทำงานแบบเครือข่ายเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต ภาคบริการอย่างมากมายอันเป็นผลจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงได้มากขึ้น

เศรษฐกิจยุคดิจิทัลทำให้เกิดการทำงานแบบเครือข่าย เชื่อมโยงทุกอย่างเข้ากับโลกอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น ระบบการผลิต หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติและการทำงานของมนุษย์ เครื่องจักรในโรงงานหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สามารถทำงานประสานกันแบบอย่างมีพลวัต (Dynamic) มีการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร (M2M) และ เครื่องจักรกับมนุษย์ (M2H) ก่อให้เกิดแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานการทำงาน Digital Platform ได้ทุกพัฒนามากขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจสำคัญ

กระบวนการเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (Digitization) และ เป็นโลกเสมือนจริง (Virtualization) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เนตและเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆการดำเนินกิจการต่างๆขององค์กรหรือปัจเจกบุคคล การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ มีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการคือ

1. การใช้ทรัพยากรเมื่อต้องการ (Resource on Demand) ภายใต้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกำลังการผลิตที่เหลือของทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่

2. การใช้ศักยภาพของบุคลากรเมื่อต้องการ (Talent on Demand) ในรูปแบบของแรงงานอิสระ (Freelance Workforce) คำว่า "Freelance" หรือ "Freelancer" คือผู้มีอาชีพอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานองค์กรใดๆ

3. การแสวงหาความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเมื่อต้องการ (Intelligence on Demand) ผ่านทาง Crowds และ Cloud โดยการกระจายปัญหาไปยังชุมชน Online หรือในโลก Cyber เทคโนโลยีที่เป็นเสาหลักในยุค Digital Economy ประกอบด้วย ระบบไซเบอร์ (Cyber Physical System) ระบบประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ระบบความปลอดภัย (System Security) ระบบการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือน (Augmented Reality) และหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นมาโดยมีพื้นฐานเลียนแบบร่างกายมนุษย์(Humanoid Robots)