posttoday

เอกชนโอด ราคาพลังงานแพงกระทบต้นทุนผลิต หนุนลดภาษี-ตรึงราคา

28 ตุลาคม 2564

ส.อ.ท.เผย FTI Poll ห่วงราคาพลังงานพุ่งกระทบต้นทุนอุตสาหกรรม ชงรัฐกดค่าไฟ ตรึงราคาพลังงาน ออกนโยบายหนุนใช้พลังงานหมุนเวียน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 11 ในเดือนตุลาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “ราคาพลังงานพุ่งแรง กระทบภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน?” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า สถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมในระดับปานกลางถึงมาก โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้เสนอขอให้ภาครัฐช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ด้วยการตรึงราคาค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ(เอฟที) จนถึงสิ้นปี 2564 การปรับสูตรและโครงสร้างราคาพลังงาน ชั่วคราว 3 - 6 เดือน เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้ง ดำเนินนโยบายในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในระยะยาว

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก  45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 11 จำนวน 7 คำถาม ดังนี้ 1.ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมระดับปานกลาง  49.3% กระทบมาก 38.0% และกระทบน้อย  12.7%

2.ปัจจัยใดที่ส่งผลกระทบให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน พบว่าอันดับที่ 1  นโยบายการผลิตน้ำมันของประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน  76.7%  อันดับที่ 2 : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น  68.7% อันดับที่ 3  ความผันผวนของค่าเงิน และภาวะเงินบาทอ่อนค่า  53.3%  อันดับที่ 4  อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวในกลุ่มประเทศฝั่งตะวันตก  51.3%

3.ปัจจุบันต้นทุนด้านพลังงานของธุรกิจท่านคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับต้นทุนในการประกอบการ พบว่า อันดับที่ 1  ต้นทุนด้านพลังงาน 10 – 20%  รองลงมาต้นทุนด้านพลังงาน น้อยกว่า 10- 24.0%    ต้นทุนด้านพลังงาน 30 – 50%  และต้นทุนด้านพลังงาน มากกว่า 50% 10.0%

4.แนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในเรื่องใด อันดับที่ 1  ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น  88.0% อันดับที่ 2  ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ปรับตัวสูงขึ้น 84.0%   อันดับที่ 3  เกิดภาวะเงินเฟ้อ และกระทบต่อกำลังซื้อ/การบริโภคของภาคเอกชน  34.0% และอันดับที่ 4  ขาดแคลนวัตถุดิบจากจีน จากภาวะขาดแคลนพลังงาน  25.3%

5.ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างไร อันดับที่ 1  ตรึงราคาค่าไฟฟ้า (FT) จนถึงสิ้นปี 2564    66.0% อันดับที่ 2  ปรับสูตรและโครงสร้างราคาพลังงาน ชั่วคราว 3 - 6 เดือน เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ 56.7%  อันดับที่ 3  จัดสรรงบประมาณหรือใช้เงินกองทุน เพื่อชดเชยและตรึงราคาพลังงานทุกประเภท  54.0%   อันดับที่ 4  ลดอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)และ เอ็นจีวี 53.3%

6.ภาครัฐควรดำเนินนโยบายด้านพลังงานในระยะยาวอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่ผันผวน  อันดับที่ 1 ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล  74.7%  อันดับที่ 2  ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 72.7%  อันดับที่ 3  ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรมแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าและความร้อน  64.0%อันดับที่ 4  ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 44.0%

7.ภาคอุตสาหกรรมควรมีการปรับตัวรับมือกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร อันดับที่ 1 นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อลดและประหยัดพลังงาน 77.3%  อันดับที่ 2  นำระบบการบริหารจัดการพลังงานมาใช้ ปรับแผนการผลิตและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุน  73.3% อันดับที่ 3 : การใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโรงงาน หรือ ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เช่น Solar cell, Biogas, Biomass  71.3%  อันดับที่ 4  สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานและเทคนิคการใช้พลังงานอย่างประหยัด 59.3%