posttoday

กลุ่มดาว จับมือ 4 พันธมิตรดึงขยะพลาสติกผลิตไม้เทียม

26 ตุลาคม 2564

5 องค์กรเอกชนพัฒนวัตกรรม“กรีนพลาส พาเลท” ไม้เทียมจากพลาสติกรีไซเคิลยาก มาใช้งานขนส่งอุตสาหกรรม ตั้งเป้าลดขยะ104 ตันต่อปี

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (DOW) เปิดเผยว่า 5 องค์กรชั้นนำได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม.บี.เจ. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมกันพัฒนา'กรีนพลาส พาเลท' สำหรับคลังสินค้าและงานขนส่งอุตสาหกรรมซึ่งผลิตจากไม้เทียมผสมบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว โดยจะเริ่มใช้งานจริงในโรงงานและคลังสินค้าของ Dow แล้วในขณะนี้ ซึ่งช่วยลดขยะได้กว่า 104 ตันต่อปีในระยะแรก และยังมีแผนจะช่วยส่งเสริมให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ในบริษัทอื่นๆ ต่อไป

สำหรับ“กรีนพลาส พาเลท”ผลิตจากไม้เทียมที่มีส่วนผสมระหว่างผงไม้กับพลาสติกใช้แล้วเพื่อทดแทนไม้จริง ในสัดส่วน 10-45% โดยใช้ประโยชน์จากพลาสติกที่รีไซเคิลยาก ได้แก่ ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น (multi-layer) เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงผงซักฟอก แชมพู-ครีมนวดผมชนิดซอง รวมทั้งขวดบรรจุภัณฑ์ชนิดที่มีสีหรือขุ่นที่รีไซเคิลได้แต่มีร้านที่รับซื้อไม่มากนัก เช่น ขวดแชมพู ขวดน้ำยาล้างจาน และยังมีแผนที่จะขยายการทดสอบไปสู่พลาติกชนิดอื่นๆเพิ่มเติมในระยะถัดไป พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันขยายการมีส่วนร่วมไปยังผู้บริโภคเพื่อรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายจากครัวเรือนมาผลิตพาเลท เพื่อลดขยะอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีส่วนร่วม

ทั้งนี้พาเลทไม้เทียมเป็นหนึ่งในไม่กี่ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันที่สามารถดึงขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่งสินค้าในเกือบทุกอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้นไม้เทียมที่ได้จากโครงการสามารถต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ รั้ว สนามเด็กเล่น ได้ในอนาคต โดยภายในปีหน้า Dow วางแผนจะใช้แผ่นไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วนี้ประมาณ 147,000 แผ่นต่อปี นำมาประกอบเป็นพาเลทเกือบ 59,000 ตัว ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ประมาณ 108 ตันต่อปี เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 333 ไร่ต่อปี

“กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของเราจากการดำเนินโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาดให้กับพลาสติกที่ใช้แล้วซึ่งให้มีมูลค่าและมีการเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ Dow ที่ตั้งเป้าว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 เราจะช่วยทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินการของบริษัทฯ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ”

นางชู ลิม รองประธานบริหาร ฝ่ายซัพพลายเชน กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน กล่าวว่าบริษัทฯยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม โครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” ที่จะเปลี่ยนถุงพลาสติกหลายชั้นที่มีมูลค่าต่ำและเป็นพลาสติกที่มักมีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบหรือรีไซเคิลที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการขับเคลื่อนนโยบายในการเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้มีปริมาณที่มากกว่ายอดขายที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในปี 2568 ให้เป็นผลสำเร็จผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะทำให้สามารถนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งหลังการบริโภคเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ด้านนายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าววว่า บริษัท ทีพีบีไอ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาการผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียมที่สามารถนำมาสู่กระบวนการ Upcycling จากพลาสติกที่ใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ชนิดซองสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นขยะพลาสติกที่ยากในการรีไซเคิล ในความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการขยะพลาสติกได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การจัดหาพลาสติกที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค การแปรรูปพลาสติกที่ใช้มาเป็น ผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียม ที่ผ่านการทดสอบพบว่ามีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานได้เทียบเท่าไม้จริง ดังนั้นโครงการนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่นำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ได้อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ทางสถาบันฯเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ สถาบันฯที่มุ่งมั่นที่ในการสร้างสรรนวัตกรรมระดับโลก ตามวิสัยทัศน์ “The World Master of Innovation” แพลตฟอร์มสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1: Disruptive Curriculums “สร้างหลักสูตรทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง”เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 ด้านที่ 2: Disruptive Research and Innovation “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง” พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

ด้านที่ 3: Creative Ecosystem “สร้างระบบนิเวศแห่งการสร้างสรรค์” สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทั้งเชิงกายภาพและเชิงดิจิตอล ด้านที่ 4: Talents Empowerment “เพิ่มขีดความสามารถนักศึกษาและบุคลากร” สร้างระบบพัฒนาเพื่อเติมเต็มศักยภาพให้บุคลากรและนักศึกษา และ ด้านที่ 5: Sustainable Development “พัฒนาองค์กรต่อเนื่องมุ่งสู่ความยั่งยืน” สร้างระบบนิเวศแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคต่อไปของโลก