posttoday

ส่งออกลอยลำดันศก.โตเดือนก.ย.พุ่ง17.1% ปั๊มรายได้เข้าไทย 6.2 ล้านลบ.

26 ตุลาคม 2564

"จุรินทร์" มั่นใจส่งออกไทยขยายตัวต่อเนื่องหนุนเดือนก.ย.ได้ดุลการค้ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ชี้สินค้าเกษตรนำโด่ง ยางพาราโต 12.9% ทำสถิติขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2564 ว่าการส่งออก ขยายตัว17.1% มูลค่า 760,556 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยได้ดุลการค้าในเดือนกันยายนรวมทั้งสิ้น 10,289 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ ขยายตัว 15.5% ทำรายได้เข้าประเทศรวม 6.2 ล้านล้านบาท โดยสินค้าสำคัญทีมีการขยายตัว คือ.สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและ หมวดอุตสาหกรรม

ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ คือ 1.หมวดสินค้าเกษตรในภาพรวมขยายตัว 12.9% มูลค่า 64,831 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกขยาย 24.7% มีมูลค่า 611,907 ล้านบาท ประกอบไปด้วย1.ยางพารา ส่งออกขยายตัว 83.6% มูลค่า 15,138 ล้านบาท ทำสถิติขยายตัวติดต่อกัน 12 เดือน และขยายตัวในทุกตลาด เช่น จีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น 2.ลำไยสด ขยายตัว 73.8% ขยายตัวทุกตลาด 4 เดือนต่อเนื่อง ทั้งตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง เป็นต้น และ 3.มะม่วงสด ขยายตัว 55.9% ในตลาดเกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่นและเมียนมา 4.มันสำปะหลังขยายตัว 44.4% มีมูลค่า 10,432 ล้านบาท

2.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัว 11.3% มีมูลค่า 56,589 ล้านบาท ได้แก่ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป ขยายตัว 29.3% อาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นพระเอกมาโดยตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขยายตัว 23.6% เป็นบวก 25 เดือนต่อเนื่อง ทั้งในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อิตาลี ฟิลิปปินส์ เป็นต้น 3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 15.8% สร้างรายได้เข้าประเทศ 608,317 ล้านบาท สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นายจุรินทร์ กล่าวว่าปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกเดือนก.ย. ทั้งที่ไทยประสบกับปัญหาโควิดและปัญหาภาคการผลิตในช่วงล็อกดาวน์ เนื่องจากมีแผนงานส่งเสริมการส่งออกที่กำหนดไว้เป็นรูปธรรมถึง 130 กิจกรรมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 บรรลุผลและเป็นการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเจรจาเปิดตลาดใหม่ทั้ง ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกาหรือลาตินอเมริกา ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญ คือ การที่กระทรวงพาณิชย์จับมือกับภาคเอกชน เร่งรัดการแก้ปัญหาสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมทั้งตู้คอนเทนเนอร์ การแก้ปัญหาด่านชายแดนไทย-เวียดนาม ไทย-จีน เป็นต้น รวมทั้งการเร่งรัดการเปิดด่านที่สำเร็จ

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น WTO คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าขนาดจีดีพี จะขยายตัว 8% แต่ประเมินใหม่ว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 10.8% จะเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่ามีส่วนให้การส่งออกของเราดีขึ้นไปด้วย ขณะที่ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนและมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า จะช่วยทำให้สินค้าของเราสามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกได้

ด้านราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งมุมลบทำให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น แต่ก็ทำให้สินค้าส่งออกของเราที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย มีส่วนเสริมทำให้ตัวเลขส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตามศักยภาพภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ทำให้ภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมของเราฟื้นตัวเร็ว แม้จะเจอกับภาวะการล็อกดาวน์และโควิด ซึ่งดูได้จากตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเครื่องจักรต่างๆในช่วงเดือนกันยาที่ผ่านมาเป็นบวกถึง 33% มีส่วนทำให้ผลิตสินค้าส่งออกไปได้โดยต่อเนื่องไม่สะดุดมีส่วนทำให้ตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายนเป็นบวกถึง 17.1%