posttoday

บีโอไอ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0

26 ตุลาคม 2564

บริบทของโลกอยู่ท่ามกลางความพลิกผันอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทอดระยะเวลายาวนาน ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการก็ต้องเร่งปรับตัวรับกระแส Disruption

โดยปรับโหมดเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตทำงานได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น และสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านการบริการมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อตอบรับผู้บริโภคในยุคดิจิทอล

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ Industry 4.0 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี  (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยได้ออก มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่สนับสนุนผู้ประกอบการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเกณฑ์ที่กำหนดในด้านต่างๆ เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Automation and Network Technology) การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด (Smart Operation) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร (Digital Technology in Production & Enterprise Processes) เป็นต้น

มาตรการดังกล่าวแบ่งเป็นกรณีสนับสนุนให้กับกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม ไม่ว่าจะได้รับส่งเสริมจากบีโอไอหรือไม่ โดยจะเพิ่มเป็นมาตรการย่อยด้านการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุนในการปรับปรุงเพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

อีกกรณี เป็นการสนับสนุนให้กับกิจการลงทุนใหม่ โดยเป็นมาตรการที่ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการในกลุ่ม B (กลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) โดยได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสิทธิประโยชน์อื่นๆ

ทั้ง 2 กรณีนี้บีโอไอให้การส่งเสริมครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยต้องมีเงินลงทุนมากกว่า 1,000,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) หากเป็น SMEs ผ่อนปรนการลงทุนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ประกอบการที่อยู่ใน Industry 4.0 ของประเทศไทยจะมีจำนวนน้อย แต่ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มที่จะใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงปี 2562 - กันยายน 2564 คำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร มีจำนวน 130 โครงการ เงินลงทุนรวม 22,598 ล้านบาท และล่าสุดบริษัท Western Digital ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก็ได้รับคัดเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติด้านการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4th Industrial Revolution) มาใช้ในโรงงาน ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งแรกของไทยที่ได้รับรางวัลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการที่พร้อมขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมและบริการปรับเปลี่ยนไปสู่ Industry 4.0  เช่น ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตั้งเป้าหมายยกระดับโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 10,000 แห่งให้สามารถยกระดับเป็น Industry 4.0 ในปี 2567

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมและบริการของไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 เพิ่มมากขึ้น

บีโอไอ ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0