posttoday

ฟิลลิป มอร์ริส แจงข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน

25 ตุลาคม 2564

ฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์ แจงสารเคมีปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ที่พบในผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนไม่อยู่ในระดับที่อันตราย

กรณีเครือข่ายวิชาชีพแพทย์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบเผยแพร่รายงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ระบุพบสารเคมี 56 ชนิดในไอละอองของผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products: HTP) ของฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (พีเอ็มไอ) ในระดับที่สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา นั้น มร. เจอรัลด์ มาร์โกลิส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ระบุว่า “จากกระบวนการตรวจหาสารเคมีเพิ่มเติม (Non-Targeted Differential Screening: NTDS) พบสารจำนวน 54 ชนิดที่มีปริมาณสูงกว่าที่พบในควันบุหรี่มาตรฐานที่ใช้ในการทดลอง (3R4F) แต่สารดังกล่าวไม่ได้เป็นสารที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย และในจำนวนนั้น มี 4 ชนิดซึ่งเป็นสารที่อาจจะเป็นอันตราย แต่พบในปริมาณที่ต่ำกว่าระดับที่อาจจะเกิดความเป็นพิษมาก ดังนั้น จึงยังสรุปได้ว่าไอละอองของผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนก่อให้เกิดสารเคมีอันตรายที่น้อยกว่าควันบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหลักฐานทั้งหมดนี้ พีเอ็มไอได้เคยนำเสนอต่อ อย. สหรัฐอเมริกาแล้วเมื่อครั้งยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ปรับลดความเสี่ยง (Modified Risk Tobacco Products) และ อย. สหรัฐฯ ได้พิจารณาแล้วก่อนอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขายและทำการตลาดในฐานะผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงในประเภทการลดสารอันตรายในสหรัฐฯ ได้”

คำชี้แจงของพีเอ็มไอที่ได้เผยแพร่ไว้ก่อนหน้านี้ระบุว่า ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไร้ควันของพีเอ็มไอจะตรวจวัดระดับสารเคมี 58 รายการ (PMI-58 list) ซึ่งเป็นสารเคมีที่หน่วยงานสาธารณสุขระดับโลก เช่น อย. สหรัฐอเมริกา สาธารณสุขแคนาดา สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ และองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ และพบว่าระดับของสารเคมีทั้ง 58 ตัวนี้มีระดับต่ำกว่าที่พบในควันบุหรี่มาตรฐานที่ใช้ในการทดลอง (3R4F) โดยเฉลี่ย 90%

นอกจากนี้ พีเอ็มไอยังได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบเชิงลึกองค์ประกอบของไอละอองของ HTP และบุหรี่มาตรฐาน 3R4F โดยใช้วิธีการ Non-Targeted Differential Screening: NTDS เพิ่มเติมจากการตรวจหาสารเคมี 58 รายการที่กำหนดไว้แต่เดิม และพบมีสารเคมี 54 ชนิดในระดับที่สูงกว่าในควันบุหรี่ เช่น มินท์ และเมนทอล เนื่องจากบุหรี่มาตรฐาน 3R4F เป็นบุหรี่ที่ไม่ได้มีการปรุงรส แต่สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้เป็นสารที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ ใน 54 ชนิดนี้ พบว่า 4 ชนิดอาจเป็นสารเคมีอันตราย แต่มีปริมาณที่ต่ำมาก ไม่อยู่ในระดับที่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่ง อย. สหรัฐฯ ได้ระบุว่า แม้สารเคมีเหล่านี้อาจเป็นพิษต่อพันธุกรรมหรือเป็นเซลล์ของร่างกาย แต่ก็พบในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการลดลงอย่างมากของปริมาณสารพิษที่เป็นอันตราย (harmful and potentially harmful chemicals: HPHCs) แล้ว ผลกระทบที่จะเกิดจากสารเคมีเหล่านี้ถือว่ายังไม่น่ากังวล

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 อย. สหรัฐฯ ได้อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนของพีเอ็มไอทำการตลาดในฐานะผลิตภัณฑ์ปรับลดความเสี่ยงโดยให้สามารถสื่อสารข้อความ “ลดการได้รับสารอันตราย” ได้ ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนของพีเอ็มไอนี้เป็นผลิตภัณฑ์อิเล็คโทรนิคส์ที่มีนิโคตินประเภทแรกและประเภทเดียวที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวจาก อย. สหรัฐฯ โดย อย. สหรัฐฯ ระบุว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสื่อสารข้อความลดการได้รับสารอันตรายลงได้ มีเหมาะสมในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยรวม โดยคำนึงถึงทั้งผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบและผู้ที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใด ๆ อยู่ในปัจจุบัน

ในขณะที่ อย. สหรัฐฯ ระบุว่า ในขณะนี้ หลักฐานทางด้านผลการวิจัยทั้งหมดยังไม่เพียงพอที่จะอนุญาตให้สื่อสารว่าลดความเสี่ยงได้ แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าเพียงพอที่จะอนุญาตให้สื่อสารเรื่องการปรับลดการได้รับสารอันตรายได้ อย. สหรัฐฯ ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า "แม้ว่าหลักฐานที่นำเสนอทั้งหมดจะยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ลดลง แต่ก็แสดงแนวโน้มให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงความเป็นไปได้ของอัตราการเจ็บป่วยหรือการตายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่สมเหตุสมผลในการศึกษาต่อ ๆ ไป"

ฟิลลิป มอร์ริส แจงข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน

“เป็นอีกครั้งที่เครือข่ายแพทย์ฯ ออกมาให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับสังคมและก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จากการที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาผลการวิจัยทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น การอ้างว่าพีเอ็มไอไม่เคยยื่นรายการสารเคมีที่ตรวจพบเพิ่มเติมต่อ อย.สหรัฐฯ นั้น เป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง หลักฐานทั้งหมดที่เราชี้แจงนี้ พีเอ็มไอได้เคยส่งให้กับ อย. สหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเรายินดีที่จะพูดคุยเกี่ยวกับผลการวิจัยของพีเอ็มไอรวมถึงงานวิจัยของหน่วยงานอิสระอื่น ๆ อีกประมาณ 30 แห่งกับเครือข่ายฯ อย่างสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับที่พีเอ็มไอได้ส่งหลักฐานทั้งหมดไปให้ อย. สหรัฐฯ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีการพิจารณาแนวทางควบคุมผลิตภัณฑ์ไร้ควันใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยประมาณ 10 ล้านคนที่สมควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับทางเลือกที่ดีกว่าการสูบบุหรี่”