posttoday

4 ปี คนแห่ร้องเรียนแข่งขันไม่เป็นธรรมพุ่ง เร่งเช็คบิลเอาผิดสถานหนัก

14 ตุลาคม 2564

กรรมการแข่งขันการค้า พบยอดร้องเรียนไม่เป็นธรรม 4 ปี 97 เรื่อง ชี้ธุรกิจค้าปลีก-อีคอมเมิร์ช มากสุด เดินหน้าสอบสวนลงโทษปรับ10%ของรายได้

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.)  เปิดเผยว่า ในรอบ 4 ปี (5ต.ค.60-ก.ย. 64) มีเรื่องร้องเรียนความไมเป็นธรรมทางการค้ารวมทั้งสิ้น 97 เรื่อง  ซึ่งจำแนกตามประเภทธุรกิจได้ทั้งหมด 19 ธุรกิจ เป็นธุรกิจประเภทพาณิชย์มีการร้องเรียนสูงสุดถึง 38 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าปลีก แฟรนไชส์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

เมื่อจำแนกตามพฤติกรรมที่กระทำความผิดแบ่งเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (มาตรา 50) 13 เรื่อง การตกลงร่วมกันทางธุรกิจ (มาตรา 54) 6 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 57) 66 เรื่อง และไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 รวม 12 เรื่อง ซึ่งมีคดีสำคัญที่ กขค. พิจารณาว่ามีความผิดตามมาตรา 57 และดำเนินการลงโทษปรับทางปกครอง จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการขนถ่ายสินค้าผ่านแดน กรณีกีดกันทางการค้าในธุรกิจผลผลิตการเกษตร กรณีการปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเป็นตันแทนจำหน่ายเครื่องมือและเครื่องจักรกลการเกษตร กรณีโรงคัดบรรจุผลไม้ปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม กรณีผู้ให้บริการขนส่งพัสดุปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งโทษสูงสุดตามกฎหมายกำหนดไว้ต้องชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด

ทั้งนี้กขค. ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือเรียกสั้นๆ ว่าไกด์ไลน์ เพื่อสร้างความชัดเจนและให้มีมาตรฐานทางการค้าที่เป็นธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้จัดทำไกด์ไลน์ซี่งมีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ไกด์ไลน์ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก  ไกด์ไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์  ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้  ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่  และมีอีก 1 ไกด์ไลน์ คือไกด์ไลน์การให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับ SMEs ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และในระหว่างนี้ให้ผู้ประกอบธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ไกด์ไลน์กำหนด

อย่างไรก็ตามกขค. มีความมุ่งมั่นและมุ่งเน้นให้การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมโดยสร้างมาตรฐานทางการค้าให้เป็นสากลโดยไม่เลือกปฏิบัติ ท้ายที่สุดผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนทั่วไปที่จะได้บริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมต่อไป