posttoday

รัฐคลายล็อกดาวน์ ดันดัชนีเชื่อมั่นอุตฯฟื้นครั้งแรกรอบ 6 เดือน

12 ตุลาคม 2564

ส.อ.ท.เชียร์แผนเปิดประเทศช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ย้ำต้องแจงให้ชัดวันไหน เดือนไหน ธุรกิจไหนได้ไปต่อ ชี้ยังห่วงน้ำท่วม น้ำมันแพง กระทบภาคการผลิต

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ระดับ 79.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.8 ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน มีปัจจัยจาก สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง ส่งผลให้ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พร้อมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทรวมถึงห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรมลดลงจากการใช้มาตรการ Bubble and Seal ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยลบที่ต้องระวังจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและ ค่าขนส่ง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและทำให้การขนส่งล่าช้า

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,411 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 65.2, และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 45.3 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 70.1, เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 68.0, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 49.5, สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 50.6, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 36.4 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 93.0 จากระดับ 90.9 ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องของภาครัฐ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัว นอกจากนี้ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ คือ 1.ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวมทั้งประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ 2. ขอให้ภาครัฐดูแลราคาพลังงาน และราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดภาระด้านต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

3. ขอให้ภาครัฐดำเนินนโยบายที่มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางธุรกิจมากขึ้นและบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ 4. ขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศและ เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ  5. ขอให้ภาครัฐขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อ เสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี

นายสุพันธ์  กล่าวว่า สังเกตได้ว่า เมื่อรัฐบาลมีแผนเปิดประเทศ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นทุกตัว ปรับตัวดีขึ้น  เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มดี  ประชาชนจะออกมาใช้จ่าย ซึ่งเห็นผลได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวต้องดูว่ารัฐบาลจะมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแค่ไหน  ขณะนี้สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงคือ ราคาน้ำมันแพง  ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะต่ำได้ไม่นาน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

“การเปิดประเทศมีความจำเป็น จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่กับเราตลอเวลา แต่อยากให้ดูที่จำนวนผู้เสียชีวิตที่เริ่มลดลงเชื่อว่าการเปิดประเทศรอบนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยดีขึ้น ขณะนี้ต้องยอมรับว่าบทบาทการสื่อสารระหว่างรัฐกับเอกชนยังมีปัญหาในเรื่องแนวทางคลายล็อกดาวน์ ดังนั้นรัฐต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีธุรกิจอะไรที่เปิดได้และเมื่อไหร่  ในจังหวัดไหนบ้างเพราะที่ผ่านมาข้อปฏิบัติที่ขาดการสื่อสารทำให้เกิดปัญหา”