posttoday

AWC  วางกลยุทธ์‘บาลานซ์’ธุรกิจ-ปรับตำแหน่งอสังหาฯในพอร์ท ลุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นไตรมาสสองปีหน้า 

11 ตุลาคม 2564

AWC  รีโพสิชันนิงแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ในพอร์ททุกแห่ง รับไลฟ์สไตล์ใหม่-ชีวิตนิว นอร์มอล ผู้บริโภคยุคหลังโควิด รับเศรษฐกิจไทยลุ้นฟื้นกลับไตรมาส2 ปี2565

นางวัลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิร์ด คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โรงแรม ค้าปลีก ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน เปิดเผยว่า บริษัท ดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวทางบาลานซ์ เพื่อบริหารสัดส่วนรายได้กระแสเงินสด (cash flow) จากธุรกิจอสังหาฯ ที่มาจากโรงแรม (Hotel) สัดส่วน 50% และ  ธุรกิจอสังหาฯ อื่น ๆ (Leasing) อีก 50%  เพื่อปรับสมดุลรายได้ธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ Blur-Merge-Mix พร้อมปรับตำแหน่งทางการตลาด (Repositioning) แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ในเครือAWC 

สำหรับการรีโพสิชันนิงอสังหาฯ ทุกแห่ง ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อปรับภาพการจดจำในอสังหาฯประเภทใดประเภทหนึ่งในรูปแบบผสมผสานเข้าไปในโครงการแต่ละแห่ง ซึ่งขณะนี้บริษัท เริ่มดำเนินการปรับตำแหน่งทางการตลาดไปแล้ว ใน6โครงการอสังหาริมทรัพย์ค้าปลีกในเครือ คือ เอเชียทีค, พันธ์ทิพย์ เชียงใหม่, พันธ์ทิพย์ งามวงศ์วาน, ศูนย์การค้าตะวันนา, ศูนย์การค้าเกตเวย์ บางซื่อ และศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย

“กลยุทธ์ธุรกิจภายใต้แนวทาง เบลอ เมิร์จ มิกซ์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ AWC ทั้งหมดนี้ เพื่อรองรับยุคนิว นอร์มอล  และ นิว ไลฟ์สไตล์ ของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19” นางวัลภา  กล่าว  

ทั้งนี้ยังสอดคล้องในอีก 5 ปีข้างหน้า AWC เตรียมเปิดตัว  3  โครงการแลนด์มาร์ค เพื่อสร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โครงการแรก คือ  ASIATIQUE THE RIVERFRONT DESTINATION ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กระดับไอคอน (Iconic Landmark) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ประกอบด้วย โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ รวมถึง ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิส เรสซิเดนส์ โดยมีแผนเปิดให้บริการเริ่มจากเปิดโซนค้าปลีกและสำนักงานในปี 2567 

โครงการที่ 2 AQUATIQUE DISTRICT PATTAYA โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา ประกอบด้วยแหล่งชอปปิ้ง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์อีก 2 แบรนด์ และพื้นที่ค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับ Wellness ตอบโจทย์การส่งเสริมให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางของชายหาดยอดนิยม (Beachfront destination) ระดับโลก 

และโครงการที่ 3  เวิ้งนครเขษม ซึ่งพัฒนาให้เป็นโครงการพิเศษแบบ Mixed Development ทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และค้าปลีกด้วยการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท โดยดึงเสน่ห์และอนุรักษ์ความเป็นไชน่า ทาวน์ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับร้านค้าปลีกใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เส้นทางมรดก มรดกทางประวัติศาสตร์ และถนนแห่งความบันเทิง พร้อมตอบโจทย์การสร้างจุดหมายปลายทางแห่งความภาคภูมิให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ด้วยงบลงทุนรวมกกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 5ปี

นอกจากนี้ AWC ยังเตรียมปรับคอนเซปต์ธุรกิจอสังหาฯกลุ่มโรงแรม แนวคิดใหม่ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้เข้ามาใช้บริการยุคใหม่ อาทิ ความต้องารจองห้องพักและห้องทำงานเพื่อตอบรับการทำงานในรูปแบบ Workation ที่พบว่ามีอัตราการจองห้องพักรูปแบบดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% จากเดิมมีสัดส่วน 2-3% ที่เข้ามาทดแทนโปรแกรมการจองที่พักเพื่อทางท่องเที่ยวต่างๆ ที่ต้องการความปลอดภัยในการเดินทางและพักผ่อนมากขึ้น

นางวัลภา  กล่าวว่ากลยุทธ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย ที่คาดว่าจะฟื้นคืนกลับมาราวไตรมาส2สอง ในปี2565 และจะมีโมเมนตัมเริ่มกลับมาในช่วงไตรมาส3 ปีหน้า แต่ทั้งนี้ยังต้องรอดูสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศอีกครั้ง โดย AWC เชื่อว่าแผนบาลานซ์ธุรกิจ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่กำลังกลับคืนมาได้อย่างแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกันในโอกาสครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่บริษัทเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “AWC” ซึ่งถือเป็นแฟลกชิพสำคัญของ ทีซีซี กรุ๊ป ด้วยขนาด IPO ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งยังเป็น IPO ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปี  โดยในสัปดาห์นี้บริษัทได้รับการรับรองให้เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ประจำปี 2564 และได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้น THSI (Thailand Sustainability Investment) จากทั้งหมด 146 รายชื่อในปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัทได้ตอบแบบประเมิน