posttoday

น้ำมันพุ่ง-บาทอ่อน ดันเงินเฟ้อเดือนก.ย.พลิกบวก 1.68%

05 ตุลาคม 2564

‘พาณิชย์’ปรับเป้าเงินเฟ้อตามจีดีพี เหลือ 0.8-1.2% ชี้เริ่มมีสัญญาณเพิ่มขึ้นหลัง เดือนก.ย.บวก 1.68% ผลจากราคาน้ำมันขาขึ้น โควิดคลี่คลาย กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับมา

นายวิชานัน   นิวาตจินดา  รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2564 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.68 หลังจากที่หดตัว ร้อยละ 0.02 ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค(ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงต่อเนื่อง 

ขณะที่สินค้าอื่นๆส่วนใหญ่ ยังเคลื่อนไหวเป็นปกติและค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหารสดที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน แต่ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักสดและผลไม้สด ยกเว้น ไข่ไก่ที่ยังมีราคาสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมากแต่แนวโน้มราคาเริ่มลดลงตามลำดับ

ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน อาทิ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า มูลค่าการส่งออกสินค้า รายได้เกษตรกร ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ชี้ว่าราคาสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายในระยะต่อไปยังมีแรงส่งจากราคาสินค้าในภาคการผลิต    บางชนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายของปี หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มเติม จะมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยแนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับสมมุติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.8-1.2 % หรือค่าเฉลี่ยกบาง 1.0 %

“แนวโน้มเงินเฟ้อจะอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้นหากรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าครองชีพ  ซึ่งการปรับเป้าเงินเฟ้อครั้งนี้ได้รวมปัจจัยเรื่องภาษีบุหรี่  น้ำท่วม  ราคาดีเซล 30 บาท เข้าไปแล้วส่วนสถานการณ์โควิดยังคงเป็นความเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ”