posttoday

เคาะแผนลงทุนอีอีซี 5 ปี เฟส 2 กว่า 2.2 ล้านลบ.ปั๊มจีดีพี 5%

04 ตุลาคม 2564

‘บิ๊กตู่’ขยับแผนลงทุนอีอีซีเฟส 2 เพิ่มเป้าหมายลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ดึงต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรม New S-Curve ปีละ 5 แสนล้าน พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ในอีอีซี

นายคณิศ  แสงสุพรรณ   เลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับแผนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในระยะ 5 ปี (2565-2569) เป็นวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากแผน 5 ปี ระยะแรก (2561-2565) ที่มีเป้าหมายกำหนดเงินลงทุนไว้ 1.7 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจุบันมีการลงทุนในอีอีซีแล้วรวม 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 94% โดยคาดว่าสิ้นปี 2564 จะได้ตามเป้าที่วางไว้  ดังนั้นแผนลงทุนอีอีซีระยะที่ 2 จะขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ (TOD)  

2.ส่งเสริมให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 4 แสน ล้านบาท  แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 2.5 แสนล้านบาท และ การลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 1.5 แสนล้านบาท

3.ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ซึ่งแผนอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซี เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท/ปี (จากเดิม 3 แสนล้านบาท/ปี)ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้โต 4.5 – 5% ต่อปี

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบ ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต) โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ พร้อมลงนามสัญญาต่อไป

นายคณิศ  กล่าวว่า  ขณะเดียวกันได้มีการพิจารณาขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็น พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) “การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด”

ทั้งนี้ที่ประชุมยังให้เดินหน้าแผนพัฒนาเกษตร ในอีอีซี (พ.ศ.2566 -2570) โดยเน้นตลาดนำการผลิต(Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) พัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง จาก 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง   ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม