posttoday

ซีอีโอใหม่ ราช กรุ๊ป รับภารกิจเป้ากำลังผลิตไฟฟ้า 1 หมื่นเมกะวัตต์

29 กันยายน 2564

ราช กรุ๊ป เร่งปิดดีล 3 โรงไฟฟ้า 3.1 หมื่นลบ. ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมส่งมอบแผนยุทธศาสตร์ปี’68 ให้ซีอีโอใหม่ เดินหน้าลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังส่งมอบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฯให้กับน.ส.ชูศรี เกียรติขจรกุล ว่า แผนยุทธศาสตร์ปี 2568 วางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าไว้ที่ 10,000 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ราช กรุ๊ป มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงกระจายการลงทุนไปยังโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในระยะยาว

ทั้งนี้กำหนดเป้าหมายไว้ปีละ 5% ของงบลงทุน อีกทั้งยังสามารถสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกทำให้การขยายและต่อยอดการลงทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประเทศล่าสุด

ปัจจุบัน ราช กรุ๊ปมีกำลังการผลิตรวม 8,292 เมกะวัตต์ โดยภายในสิ้นปี 2564 จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ มายจากโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน ในอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างการนำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบ หากประสบความสำเร็จบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 900 เมกะวัตต์  มีมูลค่าลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท

รวมถึงการเตรียมปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 2  แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่า 1,500 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติและชีวมวลในไทย  มูลค่า 4,500 ล้านบาทโดยวางงบลงทุนรวมทั้ง 3 ส่วน 31,000 ล้านบาท

ด้านน.ส.ชูศรี เกียรติขจรกุล ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ กล่าวยืนยันที่จะสานต่อภารกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของราช กรุ๊ป ด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขีดความสามารถบริษัทฯ ในการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนายกระดับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น

“การบริหารและวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทุน เพื่อให้เป้าหมายกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการ 200,000 ล้านบาท บรรลุผลสำเร็จ  โดยจะเข้ามาบริหารการลงทุนการเงิน ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการประสิทธิภาพการใช้งบลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุนหรือเครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนสมเหตุสมผลและเหมาะกับลักษณะของโครงการสำหรับรองรับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า  ตลอดจนการบริหารจัดการผลตอบแทนหรือรายได้ของกิจการที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง” น.ส.ชูศรี กล่าว