posttoday

โควิด-คลัสเตอร์รง.ฉุดดัชนีผลผลิตอุตฯ หดตัวต่ำสุดรอบ 13 เดือน

29 กันยายน 2564

ดัชนี MPI เดือนส.ค. ลดลง 4.15 % ผลจากโควิดกระทบการจ้างงานและภาคการผลิต รอลุ้นกลับมาฟื้นตัว ชี้ภาพรวม 8 เดือน ดัชนีฯยังเป็นบวก 7.13% รับอานิสสงส์ส่งออกขยายตัว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เปิดเผยว่า  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัวลดลงร้อยละ 4.15 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2564 หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 2.52 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

อย่างไรก็ตามในภาพรวม ดัชนี MPI   8 เดือนแรก(ม.ค.-ส.ค.64) ขยายตัว 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

สำหรับดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมหลักยังขยายตัว อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวลงเป็นผลจากการขาดแคลนชิปที่มีการผลิตลดลงทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจำหน่าย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

ส่วนการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2564 ขยายตัวร้อยละ 3.25 มูลค่า 17,100.80 ล้านเหรียญสหรัฐการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัวร้อยละ 19.74 มูลค่า 16,436.60         ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ด้านการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 23.82 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 66.28 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ทั้งนี้อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกขยายตัวในเดือนสิงหาคม 2564  ได้แก่ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.45  ตามการเติบโตของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอย่างต่อเนื่อง ผลจากการใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าสมัยใหม่ตั้งแต่เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เวชภัณฑ์   ทางการแพทย์  เป็นต้น

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.06 จากยางแท่งและยางแผ่น เป็นหลัก จากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรม การผลิตยางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

ส่วนเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.89 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นหลัก จากผลของฐานต่ำหลังสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ในปีก่อนที่ความต้องการใช้ยังมีอย่างจำกัด แต่ในปีนี้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง