posttoday

เชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค.ลดลงตามคาด

09 เมษายน 2553

ผลจากการเมืองและน้ำมันที่ส่อทะลุ90เหรียญดันค่าครองชีพพุ่ง

โพสต์ทูเดย์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. ร่วงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เหตุจากปัญหาการเมืองทุบความเชื่อมั่น และราคาน้ำมัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน มี.ค. 2553 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากระดับ 78.4 ในเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ระดับ 77.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2552 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เหตุผลจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจปรับตัวแย่ลง เพราะปัญหาทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ ภายหลังจากมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งการประเมินในครั้งนี้ยังไม่รวมถึงการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ประกอบกับปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นถึงระดับ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงอาจส่งผลกระทบด้านจิตวิทยา ซึ่งจากการคาดการณ์ราคาน้ำมันน่าจะวิ่งทะลุ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 2 มาตรการเข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้อีกครั้งเพื่อดูแลผู้บริโภคและภาคการผลิต เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจไม่สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้ รวมทั้งภาวะค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงในสายตาผู้บริโภค ดังนั้นหากสถานการณ์การเมืองยังไม่คลี่คลาย ดัชนีความเชื่อมั่นก็จะมีทิศทางลดลงเป็นลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงไตรมาส 1 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดี เพราะประชาชนรับรู้ว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ ถ้าการเมืองคลี่คลายภายในสิ้นเดือนนี้หรือเดือนหน้า ก็ไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจน่าจะโตได้ในระดับ 45%แต่หากการเมืองเกิดความรุนแรงทางหอการค้าไทยจะพิจารณาปรับประมาณการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจใหม่ในเดือนพ.ค.นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ จากการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน ถ้าสถานการณ์ไม่เกิดความรุนแรงจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้คาดว่าจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.3% มีความเสียหายอยู่ในกรอบ 47 หมื่นล้านบาท และถ้ายืดเยื้อนาน 3 เดือน ความเสียหายจะอยู่ที่ 7 หมื่น – 1 แสนล้านบาท

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.8 ในเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ระดับ 80.7 ในเดือน มี.ค. ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในรอบ 5 เดือน สะท้อนว่าผู้บริโภคยังกังวลการเมืองที่ไม่แน่นอนในปัจจุบันอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการจ้างงานในอนาคต