posttoday

โควิดรอบ4 ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯทำสถิติต่ำสุด ทุบศก.เสียหาย 5 แสนล้าน

05 สิงหาคม 2564

โดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.ค.ต่ำสุดรอบ 22 ปี 10 เดือน เหตุโควิดยังไม่หยุด เสี่ยงทำจีดีพีติดลบ 2 % ชงรัฐกู้เพิ่ม 5 แสน-1 ล้านล.พยุงเศรษฐกิจ

รศ.ดร.ธนวรรธน์   พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือนหรือ 22 ปี 10 เดือน เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัดโดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. เพื่อควบคุมการระบาดไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตี10ของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 35.3  38.0 และ 49.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 37.3  40.0 และ 52.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 43.1 เป็น 40.9 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือนหรือ 22 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตามต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม เป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้รวดเร็วเพียงไร รัฐบาลจะมีการประกาศล็อกดาวน์ เพิ่มเติมหรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0 ถึง -2% ได้

“ความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่5 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการติดเชื้อโควิดรายวันสูงเกิน 1.5 หมื่นคน ทำให้ประชาชนวิตกกังวลในเชิงจิตวิทยา ขณะที่มีการขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ3-5แสนล้านบาทต่อ ตอนนี้ต้องหวังให้สามารถคุมสถานการณ์จบใน 1 เดือน แต่ถ้ายังดำเนินการไม่ต้องรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม 5 แสนถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อออกมาตรการเยียวยาเพิ่ม เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบมากกว่านี้”