posttoday

MI ชี้รัฐบาลล้มเหลวสื่อสารสถานการณ์โควิดลามเศรษฐกิจ เจ้าของสินค้าหดเงินอุตฯโฆษณาปีนี้เหลือ 7.2 หมื่นล.

21 กรกฎาคม 2564

MI แนะรัฐต้องสื่อสารชัดเจนสถานการณ์โควิด-เศรษฐกิจสอดคล้องเหตุการณ์จริง ให้ธุรกิจ-ประชาชนเตรียมรับมือล่วงหน้า พร้อมหวังบรรยากาศกำลังซื้อเริ่มหวนคืนไตรมาส4 สิ้นปีนี้อุตฯสื่อโฆษณาแตะ 7.2 หมื่นล.ร่วง3-5%

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนสื่อโฆษณา เปิดเผยว่าการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย เห็นควรให้รัฐบาลจำเป็นต้องบูรณาการด้านการสื่อสารข้อมูลที่เป็นความจริง มีความชัดเจน และรอบด้านแก่สาธารณชน โดยประเมินจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจ ประชาน เตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที ด้วยขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการหรือเอาอยู่ได้ในอนาคตอันใกล้

“ในช่วงที่ผ่านมาการสื่อสารของรัฐมีความสับสน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แหล่งข้อมูลเดียวทื่มีความชัดเจน อย่าให้คนคิดไปเองว่าแนวทางหรือมาตรการต่างๆที่ประกาศออกมานั้นมีคำถามต่อ โดยเฉพาะสิ่งที่มีเนื้อหาไม่ชัดเจน ต้องพูดให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเตรียมตัวและวางแผนรอได้” นายภวัต กล่าว  

โดยเฉพาะการสื่อสารในหัวข้อดังต่อไปนี้ การสื่อสารเรื่องการกระจายวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน, การสื่อสารเรื่องมาตรการต่างๆที่จะบังคับใช้เพื่อควบคุมการระบาดหนัก ควบคู่แผนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, การสื่อสารเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณะสุขของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรอง การรักษาผู้ติดเชื้อในระดับต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีประเด็น แนวทางการเปิดประเทศไทยภายใน 120 วันตามที่ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่้อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในช่วงแรกหลังประกาศแนวทางดังกล่าว หลายฝ่ายต่างเข้าใจตรงกันว่าประเทศไทยจะพร้อมและเริ่มฟื้นกิจกรรมต่างๆภายในประเทศได้ตามปกติ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลออกมาชี้แจงแผนฯดังกล่าวอีกครั้งว่า ให้เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หรือ เป็นการเริ่มเปิดประเทศในบางจุด/พื้นที่ของประเทศ ซึ่งกรณีนี้ได้สร้างความสับสนให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ด้วยมาถึงในวันนี้ (21 ก.ค.) จากการประเมินในภาพรวมแล้ว ไทยจะยังไม่พร้อมต่อการเปิดประเทศได้ภายใน 120 วัน และเชื่อว่าจะต้องยืดระยะเวลาออกไปอีก 

นายภวัต กล่าวว่าสำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปี2564 จากการวิเคราะห์และเก็บรวบรวมข้อมูลแหล่งต่างๆ บริษัทคาดมีอัตราการเติบโตติดลบราว 3-5%  หรืออยู่ที่ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท จากในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท และเป็นตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่ต่ำสุดในรอบยี่สิบปี ปัจจัยหลักมาจากแบรนด์/เจ้าของสินค้าส่วนใหญ่ต่างชะลอการใช้เม็ดเงิน ด้วยไม่มั่นใจในกลุ่มเป้าหมายหลักสินค้าที่เริ่มมีกำลังซื้อลดลง โดยในครี่งหลังของปีนี้ บริษัทคาดว่าอุตฯสื่อโฆษณาจะมีมูลค่าราว 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากมาตรฐานเดิมตามที่ Nelsen ประมาณการไว้อยู่ที่  4.6 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่การใช้เม็ดเงินสื่อโฆษณาหลัก คือ ทีวี สัดส่วน 50% เติบโตราว 10% สื่ออินเทอร์เน็ต มีสัดส่วนราว 30% ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงหลักหลายร้อยเปอร์เซนต์ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่นาน และสื่อนอกบ้าน ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตแต่ละลอตัวจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสื่อประเภทอื่นๆ มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสื่อในโรงภาพยนต์ 

สำหรับกลุ่มอุตสาหรรมสินค้าที่ยังมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาในลำดำดับต้นๆ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (คอนซูเมอร์ โปรดักส์) ยาสีฟัน (เทพไทย), เครื่องดื่มน้ำอัดลม (โค้ก) , กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน (ถั่งเช่ายิ่งยง) ส่วนแบรนด์สินค้ายังคงเป็นแอดเวอไทเซอร์ ในกลุ่มยูนิลีเวอร์ และ เนสท์เล่

“โควิดระลอกสามกระทบสื่อนอกบ้านอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้รอวันกลับมาเติบโต จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน สื่อนอกบ้านทำตัวเลขได้ค่อนข้างดีมีการเติบโตราว8% ส่วนสื่ออื่นๆที่มีแนวโน้มเติบโตลดลงต่อเนื่องไปอีกยังคงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และ ทวีเทียร์สองและสาม” นายภวัต กล่าว  

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าหากสถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย จากเงื่อนไขประเมินจากความจริง ภายใต้ปัจจัยและมาตรการต่างๆที่คุมเข้มแต่ละวันของภาครัฐ รวมถึงในกรณีเลวร้ายที่สุดแล้วก็อาจส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโฆษณา ควรเริ่มฟื้นคืนกลับมาได้ในไตรมาส4 ของปีนี้ 

“เม็ดเงินโฆษณา ลืมคำว่าหลักแสนล้านบาทมานานหลายปีแล้ว ที่ในปีนี้ยังต้องมีการประเมินใหม่ ด้วยคนไม่กล้าใช้เงินจากความไม่มั่นคงในชีวิต ที่จะต้องมีเงินเพื่อซื้อข้าว ซื้อยา โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากที่มีจำนวนมากในประเทศ ซึ่งภาครัฐเอง ก็ควรต้องประเมินปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นตามความจริงไปด้วยพร้อมกัน ทั้งจากตัวเลข จากเสียงสะท้อนหลัก ซึ่งสถานการณ์ไม่น่าจะแย่เท่านี้ หากการสื่อสารของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากกว่านี้” นายภวัต กล่าว