posttoday

กทช.ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นกสทช.แล้ว

20 ธันวาคม 2553

สำนักงาน กทช.ประกาศเปลี่ยนเป็นสำนักงาน กสทช. แล้ว ขณะที่กรรมการเตรียมประชุมด่วนภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อทำหน้าที่แทนกสทช.ระหว่างที่มีการสรรหา 

สำนักงาน กทช.ประกาศเปลี่ยนเป็นสำนักงาน กสทช. แล้ว ขณะที่กรรมการเตรียมประชุมด่วนภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อทำหน้าที่แทนกสทช.ระหว่างที่มีการสรรหา 

รายงานข่าวจาก สำนักงานกทช. แจ้งว่า ได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นสำนักงาน กสทช.โดย ความในมาตรา 56 มาตรา 60 และมาตรา 89 แห่งพ.ร.บ.กสทช. ได้บัญญัติให้มีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดยมีเลขาธิการ กสทช. รับผิดชอบงานของสำนักงาน กสทช. และให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ พนักงานและลูกจ้าง และเงินงบประมาณ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่มีอยู่ไปเป็นของ สำนักงาน กสทช.

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. กล่าวว่า พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.  กทช.ยังปฏิบัติหน้าที่แทนจนกว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยบทบาทหน้าที่ที่สำคัญคือการเตรียมการให้กับคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นหลัก ส่วนอำนาจของการออกใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ที่เกี่ยวข้องต้องรอให้คณะกรรมการ กสทช.เป็นผู้อนุมัติ

ทั้งนี้ การมีองค์กรกสทช. ซึ่งเป็นองค์กรเดียวที่เข้ามากำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมาย ความชัดเจนนี้จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหา และการทำงานได้กระชับมากขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าจะต้องดีกว่าองค์กรเดิม และยังส่งผลดีให้การแข่งขันของกิจการโทรคมนาคมไทยมีกฎเกณฑ์ที่เท่าเทียม เสรี และเป็นธรรม รองรับกับการเปิดเสรีภูมิภาคอาเซียนในปี 2015

ด้านนายพนา ทองมีอาคม กรรมการกทช. กล่าวว่า ประกาศต่างๆ ที่กทช.เคยออกไป เช่น หลักเกณฑ์วิทยุชุมชน ยังคงเดินหน้าต่อได้ไม่ต้องยกเลิก คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ กทช.จะมีการประชุมเร่งด่วนเพื่อเตรียมตัวในการทำหน้าที่แทน กสทช.

รายงานข่าวจากกทช. ระบุว่า พ.ร.บ.กสทช. จะมีผลใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การได้มาซึ่งคลื่นความถี่เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ ต้องเข้าสู่กระบวนการประมูลเพียงอย่างเดียว ดังนั้นคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุ และโทรทัศน์ (ยกเว้นที่อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน) ที่เวลานี้ถือว่าไม่มีเจ้าของ จะต้องถูกจัดสรรใหม่ รวมถึงคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วย2.ตามมาตรา 46 กำหนดให้สิทธิการใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นบริหารจัดการแทนได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตีความว่าผู้ที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเช่าใช้โครงข่ายและขายต่อบริการ (เอ็มวีเอ็นโอ) สามารถดำเนินการได้หรือไม่ และ3.การจัดตั้ง กสทช.ที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วันนับจากกฎหมายบังคับใช้ จะดำเนินการได้ทันหรือไม่