posttoday

หอการค้าฯ ถก “สุพัฒนพงษ์” จี้ออกมาตรการเยียวยาด่วน

11 กรกฎาคม 2564

“สนั่น”ย้ำรัฐบาลต้องรีบออกมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนช่วงล็อกดาวน์ ชี้เพิ่มวงเงิน คนละครึ่ง 6,000 บาท ส่วน ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ไม่เวิร์ค แนะอิงโมเดลช้อปดีมีคืนได้ผลกว่า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รมว.คลัง เลขาธิการสภาพัฒน์  ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย  ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  โดยหอการค้าไทยได้นำข้อสรุปที่หารือในเวที 40 CEOs (พลัส) ที่เป็นกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งห่วงสถานการณ์ทางสาธารณสุข คู่กับ สถานการณ์เศรษฐกิจ ว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐ ควรต้องรีบออกมา โดย รองนายกฯ จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปหารือต่อในที่ประชุม ศบศ.

ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทางหอการค้าฯ เห็นด้วยกับการเติมเงินเข้าระบบ เช่น โครงการ”คนละครึ่ง” แต่ควรเพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ส่วนมาตรการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่มีการใช้ที่ยุ่งยาก และมีเงื่อนไขการใช้จ่ายจำกัด ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยได้มีการเสนอให้ปรับเงื่อนไขใหม่หรือเสนอโครงการใหม่ในรูปแบบเดียวกับ “ช้อปดีมีคืน” คือให้สามารถใช้จ่ายได้ทั้งก้อน และนำใบเสร็จในการซื้อสินค้าไปลดหย่อนภาษีปลายปีได้  ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นทำให้คนมีฐานะเข้ามาใช้โครงการมากขึ้น

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการเปิดประเทศในลำดับต่อไปจาก Phuket Sandbox ก็ได้มีการหารือถึง แนวทางการควบคุมและดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ “ฮักไทย”ในจังหวัดต่างๆ การเสริมการประชุมและการเดินทางในประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการ และที่สำคัญคือ การทำโครงการ Digital Vaccine Passport ซึ่งรองนายกฯ เห็นด้วย และได้มอบหมายให้ทาง ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

หอการค้าฯ ถก “สุพัฒนพงษ์” จี้ออกมาตรการเยียวยาด่วน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นั้น ทางหอการค้าฯ ได้หารือกับสถาบันทางการเงิน และ ก.ล.ต. โดยนำความเห็นของผู้ประกอบการทั้งข้อเสนอและปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จัดทำเป็นบทสรุปนำเสนอถึงข้อจำกัดของมาตรการในปัจจุบัน อาทิ มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ ขอขยายมาตรการให้ครอบคลุมถึงเงินใหม่ที่ให้เพิ่ม เพื่อนำมาหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง , หลักเกณฑ์การตีราคามูลค่าทรัพย์สิน การใช้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ร่วมกับ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู การลดเงื่อนไขและข้อจำกัดของการตีโอนทรัพย์เพื่อพักทรัพย์ พักหนี้ จะทำให้กลไกตลาดทำงานและการเจรจาตกลงได้ 

รวมถึงให้กลุ่มลูกหนี้เดิมสามารถนำหลักทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นหลักประกันได้ และให้ขอลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้สะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดีหอการค้าฯ ได้เสนอให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้สถาบันทางการเงินสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยสถาบันทางการเงินจะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานในการให้สินเชื่อ ซึ่งจะพิจารณาจากหลายมิติ ไม่ใช่พิจารณาจากเครดิตบูโรเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การปลดล็อกเรื่องเครดิตบูโร หรือ NPL จะทำให้เอสเอ็มอี อีกจำนวนมากได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดนี้ ยิ่งต้องมีการดูแลผ่อนผัน เพื่อให้สถานการณ์ฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว

นายสนั่น กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องขอขอบคุณรองนายกฯ และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ให้การสนับสนุน และขอให้ทุกภาคส่วนได้หารือแนวทางการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนและดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติโดยเร็ว  และยังได้เน้นย้ำและฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชนให้การสนับสนุนการเดินทางไปจัดประชุมที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง และขอให้ช่วยขยายโครงการต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป