posttoday

AOT เจอพิษโควิดการบินชะงัก ขาดทุน 7.06 พันล้าน

01 กรกฎาคม 2564

“นิตินัย”ชี้วิกฤตโควิด-19หนักสุด ฉุดอุตสาหกรรมการบินฟุบ ตั้งแต่เดือนต.ค. 63-พ.ค. 64 ผู้โดยสารหายไป 71.5% เที่ยวบินลด 51% ขณะที่ผลการดำเนินงาน 6 เดือนปีงบ’64 ขาดทุน 7.06 พันล้านบาท

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT)  เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 42 ปีการดำเนินงาน ว่า  ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2564  (ต.ค.2563 – พ.ค. 2564) ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ สนามบนทั้ง 6 แห่งมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 18.33 ล้านคน ลดลง 71.5% เป็นไปในทิศทางเดียวกับจำนวนเที่ยวบิน คือ มีประมาณ 206,000 เที่ยวบิน ลดลง 51.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ในปี 2564 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การฟื้นตัวของการเดินทางภายในประเทศเกิดการปรับตัวลง  โดย รอบ 6 เดือนของปีงบ2564 (ต.ค. 2563 – มี.ค.64) (งบการเงินเฉพาะบริษัท) AOT มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 3,748.03 ล้านบาท และรายได้อื่น 792.13 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 4,540.16 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 13,464.40 ล้านบาท และรายได้ภาษีเงินได้ 1,857.30 ล้านบาท จึงทำให้มีผลขาดทุนสำหรับงวดดังกล่าว จำนวน 7,066.94 ล้านบาท

สำหรับโครงการ Phuket Sandbox ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 AOT มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกและเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร

การแพร่ระบาดโควิด ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุด และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินมากที่สุด รวมทั้งมีผลกระทบต่อการบริหารและการดำเนินงานของ AOT อย่างชัดเจน  ทำให้ AOT ได้มีการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์หลังจากสิ้นสุดวิกฤตโรคโควิด-19ในทุกๆด้านพร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการเดินทางทางอากาศ

นายนิตินัย กล่าวว่า แม้ว่า AOT จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ การพัฒนาสนามบินเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) ระยะที่ 2 มีความก้าวหน้ามากกว่า 95%   แล้ว