posttoday

บริหารองค์กรแบบทีมนักกีฬา

24 มิถุนายน 2564

คอลัมน์ Great Talk

สวัสดีครับอาจารย์ ผมเคยเรียนกับ อจ.ตอนปริญญาโท ตอนนั้น อจ.พูดถึงการบริหารงานแบบทีมฟุตบอลและการบริหารแบบครอบครัวมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่สุดท้าย อจ.ก็เลือกบริหารแบบครอบครัวอยู่ดี พอดีวันนั้นไม่ได้ถามเลยอยากเขียนถามดูว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้างและแบบไหนดีกว่ากันครับ

สวัสดีครับ ในตอนนั้นผมเล่าเรื่องการบริหารงานองค์กรของบริษัท Netflix ว่าใช้หลักการบริหารแบบทีมนักกีฬาเหมือนบาสเก็ตบอลหรือทีมฟุตบอล คือมี นักกีฬา มีผู้จัดการทีมและมีเจ้าของสโมสรต่างๆ

หากเปรียบเหมือนทีมกีฬาการบริหารองค์กรย่อมต้องมองถึงชัยชนะในแต่ละฤดูกาลแข่งขัน ซึ่ง ความสำคัญ คือ ผู้เล่นต้องมีศักยภาพเพียงพอ Team Work กลยุทธ์และองค์ความรู้ในเกมกีฬานั้นๆ ผู้จัดการทีมที่ต้องคอยเอาใจใส่ทั้งคอยกดดันทีมขณะแข่งขันเพื่อชัยชนะหรือคอยประคับคองจิตใจเมื่อทีมพ่ายแพ้ เป้าหมายและความมุ่งมั่นเดียวกันคือ “ชัยชนะ”

เงินทุนเพื่อซื้อตัวหรือขับเคลื่อนศักยภาพต่างๆของทีม ทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อพัฒนานักเตะ อุปกรณ์ต่างๆเพื่อพัฒนาร่างกายรวมถึง ทุนเพื่อสร้างปัจจัยต่างๆเพื่อชัยชนะ

ดังนั้น Netflix จะเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกคนที่หิวกระหายในชัยชนะ ขณะเดียวกันพร้อมที่จะคัดคนที่ “ไม่ใช่” ออกจากทีมหากคนผู้นั้นหมดไฟกับการแข่งขัน เพราะหากหมดไฟแล้ว การเสียค่าใช้จ่ายกับคนที่ทำประโยชน์ให้กับทีมไม่ได้ก็เปรียบดั่ง นักเตะขาเจ็บที่ไร้ศักยภาพเสียงทั้งต้นทุนและเสียโอกาสในการคัดสรร “ผู้หิวกระหาย” นั้นเอง

Netflix ยังมีความเชื่อมั่นว่า คุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานของคนทำงานที่อยู่ในบริษัทไม่ใช่การทำงานผิดพลาดแต่คือการรู้ปัญหาแต่ไม่ยอมบอกหรือไม่ยอมแก้ไขและชื่นชมกับการทำงานที่แก้ปัญหาได้มากกว่ามาคอยบอกว่าปัญหาคืออะไร (เหมือนกับพนักงานหลายคนที่วันๆเอาแต่มาบอกว่าบริษัทมีปัญหานู่นนี่อันนี้ก็ไม่ดีตรงนั้นก็สู้เขาไม่ได้ แต่ไม่เคยบอกข้อเสนอแนะอะไรสักอย่างนั้นแหล่ะครับ)

ดังนั้นหากองค์กรที่แสวงหาแต่นักกีฬาที่มีความสามารถ กระหายชัยชนะและคอยบอกกล่าวทีมเมื่อมีข้อผิดพลาดและร่วมกันแก้ปัญหาให้ผ่านมันไปได้ ขั้นตอนที่เหลือคือการเอาคนที่ไม่ใช่ออกจากทีม

อย่างที่ผมอธิบายข้างต้นไปว่า Netflix พร้อมจะคัดคนออกและซื้อตัวนักเตะมาใหม่ทันทีหากคิดว่าจำเป็น ด้วยกลยุทธ์แบบนี้เราจึงไม่มีพี่น้องในทีมที่แท้จริงมีแต่ “คุณค่า” ในตัวนักกีฬาที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้เท่านั้น ราคาของนักเตะถูกหรือแพงจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ความสามารถและจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ดังนั้นหากเราจะดึงใครสักคนเข้ามาทำงานไม่ใช่เรามองว่า นักกีฬาคนนี้มีความสามารถเท่านี้ ณ ปัจจุบันจึงรับเข้ามา แต่มองว่าอีกหนึ่งปี ความสามารถของคนคนไหนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดชัยชนะได้ เช่น หากเราจะรับตำแหน่ง Marketing นาย A องค์ประกอบจิตใจครบถ้วน เงินเดือน 50,000 บาท นาย B มีมาตรฐานเท่ากัน แต่มีสกิลการวิเคราะห์ Data Scientists ขั้นต้น เงินเดือน 60,000 บาท

หากทางผู้บริหารเห็นว่า ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลของนาย B จำเป็นกำชัยชนะในฤดูกาลนี้ แม้เงินเดือนหรือความสามารถอื่นอาจมีข้อเปรียบเทียบ ทางบริษัทจะคัดเลือกนาย B ทันทีเป็นต้น

สรุปว่า ให้เราเลือกคนที่จะมีประโยชน์กับเราล่วงหน้าโดยมองข้ามราคาและอายุการทำงานไปเลยนั้นเอง

เมื่อทีมมีแต่ผู้เล่นเก่งๆเต็มไปหมด นั้นย่อมทำให้องค์กรเหมือนเป็นแม่เหล็กดูดคนเก่งและคนอยากเก่งที่มาทำงานกับคนเก่งๆ เหมือนกับว่า ใครๆก็อยากเข้าทีมมาเล่นกับ จอร์แดน เมสสี่ โรนัลโด้ เป็นต้น

ฉบับหน้าผมจะเล่าการบริหารองค์กรแบบครอบครัวและข้อดีข้อเสียเมื่อเทียบกับทีมกีฬาให้ฟังต่อครับ