posttoday

'ศักดิ์สยาม’เร่งลงทุนขนส่งบูมศก.ไทย ปักธงฮับอาเซียน

23 มิถุนายน 2564

‘ศักดิ์สยาม’เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ อากาศ -บก-ราง- น้ำ ดันไทยศูนย์กลางขนส่งอาเซียน ขณะที่เตรียมพร้อมทางอากาศรองรับเปิดประเทศภายใน 120 วัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รมว.มนาคม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” ในงานสัมมนาเรื่อง “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง และคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 6% เนื่องจากมีวัคซีนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้การคมนาคมขนส่งของประเทศมีความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ และการเตรียมความพร้อมการคมนาคมขนส่งทางอากาศรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน หรือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox)

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง กระทรวงฯ ได้วางแผนการใช้งบประมาณจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมต่อไปได้ ซึ่งมี  เมกะโปรเจกต์หลายโครงการที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อพลิกเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ดังนั้นจึงเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ กระตุ้นจ้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นต้น

ส่วนโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คือ 1.การเตรียมความพร้อมของคมนาคมขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการจองตารางการบิน (Slot) ไว้แล้วกว่า 80 - 90% โดยจัดทำแผนการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยระยะ 15 ปี พร้อมกับเร่งรัดการซ่อมบำรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยาน เช่น  ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และท่าอากาศยานภูมิภาคที่สำคัญ

2. การคมนาคมขนส่งทางบก ได้จัดทำแนวทางการบูรณาการระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟทั่วประเทศ (Motorway and Railway) หรือ MR-MAP กำหนดแนวเส้นทางร่วมรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ที่เป็นไปได้ไว้เบื้องต้น 9 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร(กม.) และได้คัดเลือกโครงการนำร่อง 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. ชุมพร - ระนอง หรือโครงการ Land Bridge 2. EEC - Land Bridge - BIMSTEC เพื่อเชื่อมฐานการผลิตจาก EEC เข้าสู่ Land Bridge เพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC 3. EEC - โคราช เพื่อกระจายสินค้าจาก EEC เข้าสู่พื้นที่ภาคอีสาน และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ 4. วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งสินค้า ลดปัญหาการขนส่งผ่านพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ

3.แผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางราง ได้แก่ แผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Urban Mass Transit) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 14 เส้นทาง  การพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ   การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหลักในภูมิภาค  รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เส้นทางดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571

4. การคมนาคมขนส่งทางน้ำ กำหนดแผนงานโครงการสำคัญทางน้ำ เพื่อสนับสนุนให้มีสัดส่วนการขนส่งทางน้ำเพิ่มมากขึ้น เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ  โครงการ Land Bridge เพื่อเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและการขนส่งสินค้าระหว่างทะเล  ฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน โดยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่งของคอคอดกระ และเชื่อมต่อการขนถ่ายสินค้าระหว่าง 2 ฝั่งโดยถนนและระบบราง

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นโครงการ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยผ่านการลงทุนภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัว และเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการพลิกโฉมประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค