posttoday

อโกด้า เผยเทรนด์สำคัญการท่องเที่ยวโลกหลังโควิด ผู้คนสนใจการเดินทางพักผ่อนอย่างยั่งยืน

04 มิถุนายน 2564

อโกด้า กางผลสำรวจนักเดินทางทั่วโลกสนใจแหล่งเที่ยวยั่งยืนต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนะภาครัฐเป็นเจ้าภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวยั่งยืนมากขึ้น 'คนไทย'พร้อมใจจัดการตัวเองหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

นายจอห์น บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อโกด้า เปิดเผยผลสำรวจในหัวข้อ เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2021 จัดทำโดยอโกด้า จัดทำขึ้นเพื่อฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่

1.การท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ 2. มลพิษและสิ่งปฏิกูลตามชายหาดและแหล่งน้ำ และ 3. การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้น้ำ และไฟเกินความจำเป็น

ขณะที่ นักท่องเที่ยวผู้ตอบแบบสำรวจลงความเห็นตรงกันทั่วโลกว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ในการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวย่างยั่งยืน ต่อมาคือหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และตัวนักท่องเที่ยวเอง โดยผู้ตอบแบบสำรวจในอินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร (36%) จีน (33%) ออสเตรเลีย (28%) และมาเลเซีย (27%) ลงความเห็นว่าภาครัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวชาวไทย (30%) ญี่ปุ่น (29%) และสหรัฐอเมริกา (28%) มองว่าความรับผิดชอบนั้นควรเริ่มต้นจากตัวนักท่องเที่ยวเองในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวชาวจีน (11%) สหราชอาณาจักร (13%) และเวียดนาม (14%)

และเมื่อถามนักท่องเที่ยวว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น นักท่องเที่ยวจะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นอย่างไร คำตอบของนักท่องเที่ยว โดยเรียงตามลำดับตามความนิยม มีดังนี้ 1. จะจัดการขยะของตนเอง รวมถึงจะหลีกเลี่ยงการใช้ถพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 2. จะปิดแอร์ และไฟเมื่อออกจากห้องพัก และ 3. จะเลือกใช้บริการที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้การท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ จะเป็นเรื่องที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ แต่การไปท่องเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม กลับอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 10 ในสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะทำ

ไม่มีความหมายตายตัวในด้านความยั่งยืน

ขณะที่ แนวทางปฏิบัติที่นักท่องเที่ยวมองว่าสัมพันธ์กับการเดินทางอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือยั่งยืนมากที่สุด คือ 1. พลังงาน และทรัพยากรหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ไฟฟ้าพลังน้ำ และน้ำ 2. ไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และ 3. การอนุรักษ์สัตว์ และการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยลง

สำหรับวิธีอื่น ๆ ในการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้คีย์การ์ด หรือเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ แต่น่าสังเกตว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การใช้ผ้าปูที่นอน หรือผ้าเช็ดตัวซ้ำระหว่างท่องเที่ยว และการไปท่องเที่ยวสถานที่ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยม เป็นแนวทางปฏิบัติที่อยู่ใน 3 อันดับสุดท้าย จาก 10 แนวทางปฏิบัติยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอย่างยั่งยืนมากที่สุด

"เราสามารถเห็นได้จากผลการสำรวจเทรนด์การเดินทางอย่างยั่งยืนของอโกด้าว่า ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการทำตามวิธีดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ อย่างการปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศเมื่อออกจากห้องพัก และการลดปริมาณขยะโดยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อีกสิ่งหนึ่งเราเห็นได้อย่างชัดเจนคือทั่วโลกมองว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการบริหารจัดการการเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็ตระหนักว่าความรับผิดชอบบางอย่างในเรื่องนี้นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตนเองเช่นกัน” นายบราวน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในฐานะที่อโกด้าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำเป็นต้องหาวิธีอย่างต่อเนื่องที่จะช่วยให้ผู้คนทำตามเป้าหมายในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำให้คนค้นหาที่พักที่ยั่งยืนบนอโกด้าได้ง่ายขึ้น การส่งเสริมสนับสนุนพาร์ทเนอร์ให้ใช้คีย์การ์ดจ่ายไฟในห้องพักมากขึ้น การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน หรือนำการชดเชยคาร์บอนมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้คนเวลาซื้อผลิตภัณฑ์/บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

โควิดส่งผลกระทบเชิงลบต่อทัศนคติต่อการเดินทางอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ความต้องการด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนมีเพิ่มขึ้น และแพร่หลายมากที่สุดในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจากเกาหลีใต้ (35%) อินเดีย (31%) และไต้หวัน (31%) อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขสำหรับทั่วโลก ขณะที่ผู้คน 25% ปรารถนาจะเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผู้คนอีก 35% กลับมีความปรารถนาเดียวกันลดลง โดยประเทศที่มีสัดส่วนความปรารถนานี้ลดลงมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย (56%) ไทย (51%) และฟิลิปปินส์ (50%)

นายบราวน์ กล่าวว่าเป็นที่น่ากังวลว่าตอนนี้นักเดินทางต่างมองการเดินทางอย่างยั่งยืนสำคัญน้อยลงกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น แต่หวังว่าจะเป็นเพียงผลกระทบเชิงลบในระยะสั้น

ประเทศไทย

ขณะที่ คนไทยส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากเกินที่แหล่งท่องเที่ยวจะรับได้ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ 30% ของคนไทยเชื่อว่า ตัวเองมีความรับผิดชอบมากที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามมาด้วยหน่วยงานการท่องเที่ยว (25%) และภาครัฐ (24%)

โดยคนไทยส่วนใหญ่สัญญาว่า เมื่อไปท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น พวกเขาจะจัดการขยะของตนเองระหว่างการท่องเที่ยว โดยใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้น้อยลง (53%) มองหาที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ (37%) และปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงไฟเวลาออกจากห้องพัก (31%) แนวทางปฏิบัติที่คนไทยถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนมากที่สุด ได้แก่ การที่ที่พักใช้พลังงาน หรือแหล่งน้ำหมุนเวียน (31%) การใช้ผลิตภัณฑ์อำนวยความสะดวกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (20%) และการใช้คีย์การ์ดจ่ายไฟในห้องพัก (15%)

เมื่อถูกถามว่า มีแนวทางปฏิบัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนบ้าง คนไทย 47% ตอบการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน 41% ตอบการอนุรักษ์สัตว์ และ 35% ตอบการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ มาตรการเพิ่มเติมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น คือระบุตัวเลือกการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย เสนอสิ่งจูงใจทางการเงินแก่ผู้ให้บริการที่พักที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานถึงขีดสุด และจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งของสายการบินหรือในที่พัก