posttoday

เอฟทีเอดันการค้าไทยพุ่ง 1 แสนล้านเหรียญฯ

02 มิถุนายน 2564

พาณิชย์ ชี้ไทยจับคู่เอฟทีเอ 18 ชาติ สร้างมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกสินค้าเกษตรเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 108,826.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 63.84% ของการค้ารวมของไทย โดยเป็นการส่งออกไป 18 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ มูลค่า 52,627.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.45%

ทั้งนี้สินค้าเกษตร (กสิกรรม ปศุสัตว์และประมง) เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นทั้งอาหารและวัตถุดิบ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 6,097 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 74.56% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย โดยตลาดที่มีการขยายตัว เช่น จีน อาเซียน  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้   และอินเดีย เป็นต้น

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ยางพารา  และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยาง พลังงานทดแทน และเป็นทั้งพืชอาหาร นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรกลุ่มอาหารอื่นๆ ที่ขยายตัวเช่นกัน อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เครื่องเทศและสมุนไพร และข้าวโพด   

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน มีมูลค่า 40,161.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น  5.25%  มีสัดส่วน 58.65% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด  โดยตลาดส่งออกที่มีการขยายตัว อาทิ จีน   เวียดนาม  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  ลาว  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  ออสเตรเลีย  อินเดีย  และนิวซีแลนด์  

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในภาคการผลิต สินค้าป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส และสินค้า Work From Home อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์  ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก  เคมีภัณฑ์  วงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปของไทยไปยังประเทศคู่เอฟทีเอในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีสินค้าที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง  ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป  เครื่องดื่ม  สิ่งปรุงรสอาหาร  ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์  และไอศกรีม

“การส่งออกของไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้ากลุ่มอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคการผลิต เนื่องจากปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อีกทั้งความตกลงการค้าเสรียังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยอีกด้วย” นางอรมน กล่าว