posttoday

โควิดรอบ 3 ฉุดคนไทยใช้น้ำมันลดลง 4 เดือนแรกวูบ 3.5%

31 พฤษภาคม 2564

ยอดการใช้เบนซิน-โซฮอล์-ดีเซล 4 เดือนแรกลดลงจากปัจจัยโควิดระลอกใหม่ ชี้น้ำมันเครื่องบินลดลงหนักสุด 64.8% ส่งผลนำเข้าน้ำมันลดลง 8%

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่าภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 4 เดือนของปี 2564 (มกราคม-เมษายน) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.5 โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่ลดลงร้อยละ 64.8

ขณะที่การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 4.7 ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และ เอ็นจีวีลดลงร้อยละ 23.6

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน 4 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 30.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 30.1 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 ส่วนการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน หรือลดลง ร้อยละ 9

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนเมษายน 2564 พบว่าการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 29.9 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 33.9 ล้านลิตร/วัน) โดยเป็นการลดลงของกลุ่มเบนซินทุกชนิด เนื่องจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

ด้านการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล 4 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 66.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 มีปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 39.7 ล้านลิตร/วัน หรือลดลง ร้อยละ 18.7 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.8 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน

สำหรับการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 64.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทางโดยเครื่องบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ส่วนการใช้แอลพีจีเฉลี่ยอยู่ที่ 16.2 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยปริมาณการใช้ในภาคปิโตรเคมีขยายตัวและมีการใช้มากที่สุดอยู่ที่ 6.8 ล้านกิโลกรัม(กก.)/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีการใช้อยู่ที่ 1.9 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.7 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2  ขณะที่ภาคขนส่งมีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.8 ล้านกก./วัน หรือลดลง ร้อยละ 13.5

การใช้เอ็นจีวีเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 23.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถเอ็นจีวีที่ลดลง

อย่างไรก็ตามการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนม.ค.-เม.ย. 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 914,677 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 872,568 บาร์เรล/วัน  หรือลดลงร้อยละ 8.0 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 49,185 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

ส่วนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน  น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ แอลพีจี) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 42,109 บาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวม 2,541 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 โดยมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นนั้นเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564

การด้านการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ แอลพีจี โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 170,163 บาร์เรล/วัน หรือลดลงร้อยละ 8.8 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 10,262 ล้านบาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0