posttoday

ไฮสปีด 3 สนามบินรอเปิดพื้นที่ก่อสร้างครบ100% ก.ย.นี้

27 พฤษภาคม 2564

เอกชนเดินหน้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน รับมอบพื้นที่รอก่อสร้างแล้ว 86% คาดเสร็จตามแผนเปิดให้บริการปี’68 มั่นใจกระตุ้นการลงทุนอีอีซี 6.5 แสนล้าน

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ขณะนี้ได้ส่งมอบพื้นที่แล้ว 86% รวม 5,521 ไร่ เพื่อรอเปิดพื้นที่เดินหน้าการก่อสร้าง

ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบดังนี้  1.ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ รฟท. ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว คาดจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

2. เริ่มงานก่อสร้างที่ ถนนสะพาน บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นส่วน ยันพร้อมเปิดบริการปี 2568 งานก่อสร้างโครงการฯ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันบริษัทฯ เอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ ก่อสร้างสำนักงานสนาม  บ้านพักคนงาน  และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก รฟท. จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5ปี และจะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด

ไฮสปีด 3 สนามบินรอเปิดพื้นที่ก่อสร้างครบ100% ก.ย.นี้

3. ยกเครื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ โฉมใหม่ คนใช้สะดวกขึ้น บริการทั่วถึงปลอดภัย การส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ขณะนี้รฟท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ รฟท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป 

ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญาในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท เตรียมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากร ยกระดับคุณภาพบริการ

ไฮสปีด 3 สนามบินรอเปิดพื้นที่ก่อสร้างครบ100% ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)  อยู่ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ทุกขั้นตอนดำเนินการโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด มีมูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท (ภาครัฐ 157,872 ล้านบาท และเอกชน 99,592 ล้านบาท) คาดจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ

ไฮสปีด 3 สนามบินรอเปิดพื้นที่ก่อสร้างครบ100% ก.ย.นี้