posttoday

ดึงยักษ์ค้าปลีกอุ้มซัพพลายเออร์ อัดฉีดสภาพคล่องช่วงโควิด

18 พฤษภาคม 2564

หอการค้าไทยถกซีอีโอค้าปลีก สร้างช่องทางเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนช่วงโควิด การันตีประวัติซัพพลายเออร์ยื่นขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ด้านเซ็นทรัลรีเทล-กสิกร นำร่องปล่อยกู้แล้ว 4 พันราย

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ระดมความเห็นร่วมกับคณะกรรมการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และผู้บริหารระดับสูงจาก สมาชิกของสมาคมฯ ได้แก่ Central Retail, The Mall Group, Robinson, CP All, Siam Piwat, Makro, Lotus, Big C และ ตั้งงี่สุน และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วย Digital Transformation โดยเฉพาะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในสภาวะวิกฤติโควิด-19

ทั้งนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างๆ มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีประวัติการซื้อขายของ Supplier ซึ่งสามารถนำมาประกอบการใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้ โดยมีแนวทางขับเคลื่อนในการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนแยกเป็น 2 ประเภท คือ 1.เงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุง และขยายกิจการโดยผ่านสินเชื่อ Soft Loan ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน  

ทั้งนี้ในกรณีไม่เข้าเงื่อนไขสินเชื่อ Soft Loan ธนาคารพาณิชย์จะพิจารณานำเสนอสินเชื่อประเภท Clean Loan ที่มีดอกเบี้ยต่ำใกล้เคียงกับ Soft Loan

2.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทางธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ Factoring โดยตรงไปยังเอสเอ็มอี โดยใช้ คำสั่งซื้อ และใบแจ้งหนี้จากผู้ประกอบการค้าปลีก เป็นหลักประกัน  หรือ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อนำไปทำ Factoring โดยตรงให้กับ Supplier ในอัตราดอกเบี้ยเดียวกัน

อย่างไรก็ตามทางเซ็นทรัลรีเทล (CRC) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)  ได้เริ่มต้นแบบของ Sand Box ในการปล่อยกู้ให้ Supplier กว่า 4,000 ราย โดยสามารถอนุมัติได้มากขึ้น และรวดเร็ว และกว่า 70% ของ Supplier ยังไม่เคยเข้าถึง Soft Loan มาก่อน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมโครงการ Sand Box และหลังจากนี้ จะขยายผลไปยังสมาชิกของสมาคมฯ และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ต่อไป คาดว่าจะมีจำนวนเอสเอ็มอี มากกว่า 1 แสนราย เข้าถึง Soft Loan และ Factoring ในต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อเป็นแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่อง

ขณะเดียวกันทางหอการค้า ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำระบบ e-Factoring โดยจะมีรวบรวมฐานข้อมูลกลาง และขั้นตอนการนำส่งข้อมูลของผู้ขายสินค้าจากห้างค้าปลีก ไว้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อความสะดวกและลดความซ้ำซ้อน หาก Supplier เป็นลูกค้าหลายธนาคารและขอสินเชื่อผ่านทุกธนาคาร โดยธนาคารพาณิชย์จะช่วยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขายสินค้า และจัดกลุ่มเพื่อใช้เป็นแหล่งสินเชื่อ จากมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจ (250,000 ล้านบาท) และสินเชื่อ Factoring ที่ทางภาครัฐได้มีการเตรียมไว้แล้ว

นอกจากนี้มีการทำแผนงานร่วมกันทั้งสถาบันทางการเงิน และ Modern Trade ใหญ่ๆ ให้การสนับสนุนให้เอสเอ็มอี สามารถโอนสิทธิบัญชีลูกหนี้การค้าให้สถาบันทางการเงิน และทางห้างค้าปลีกที่เป็นผู้ซื้อสินค้า จะผ่อนคลายมาตรการข้อตกลงต่าง ๆ ให้กับผู้ขายที่มีประวัติที่ดีในการค้าขายระหว่างกัน เช่น ลด Disclaimers การชำระเงิน, การคืนของ เป็นต้น

ทั้งนี้มีข้อเสนอที่ผู้ประกอบการค้าปลีกขอให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาเพิ่มเพื่อให้ SMEs ได้เข้าถึงสินเชื่อ Soft Loan และ Term Loan ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

1.  เอสเอ็มอี ที่ไม่ได้มีประวัติการซื้อขายเป็นประจำกับผู้ประกอบการค้าปลีก ทางธนาคารพาณิชย์ควรพิจารณานำยอดการซื้อขายจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆ มารวมในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ Soft Loan ด้วย

2. ขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทางเลือก เช่น Factoring และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องให้มีอัตราใกล้เคียงกับ Soft Loan เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเอสเอ็มอี ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

3. ขอให้ธนาคารพาณิชย์หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาปลดล็อค หรือผ่อนผันให้ เอสเอ็มอี ที่มียอดขายดี และสม่ำเสมอกับผู้ประกอบการค้าปลีกที่อาจจะติด Credit Bureau เช่น อยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ หรือ NPL เพื่อให้ เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต้องมีการผ่อนผันเพิ่มขึ้นเพื่อให้สถานะทางการเงินของเอสเอ็มอี ฟื้นตัวโดยเร็ว โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากผู้ประกอบการค้าปลีกประกอบในการพิจารณาเป็นหลักประกัน และลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์

4. ขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการค้าปลีก เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือในการทำ Factoring โดยตรงกับ เอสเอ็มอี