posttoday

'เมดพาร์ค' หนุนบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19ต้องรีบ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทันที  

22 เมษายน 2564

เมดพาร์ค แนะตั้ง 'Medical Top Team’ แก้ปัญหาคอขวดคุมระบาดบริหารจัดการ-วัคซีนโควิด-19 ทั้งระบบ ก่อนเศรษฐกิจไทยโคม่า  

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดเผยในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียนว่า หากรัฐบาลเร่งจัดสรรให้ประชาชนคนไทย เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว/ครอบคลุมได้มากที่สุด จะส่งผลดีในสองปัจจัยหลัก คือ 1.ลดอัตราการติดเชื้อ และ 2.ลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการณ์ปกติได้ หรือ อย่างน้อยสุดทำให้โรคโควิด-19 เป็นไข้หวัดธรรมดา สามารถป้องกันได้ในกลุ่มประชาชนทั่วไป  

"การมีวัคซีนเข้ามา จะช่วยทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย อัตราการติดเชื้อลดลง อัตราการใช้ห้องไอซียูและอัตราปอดอักเสบจากการติดเชื้อลดลง ไปจนถึงการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่จะลดลงได้ ผลที่ตามมา คือ สามารถช่วยด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากการเดินทางข้ามประเทศได้ด้วยเมื่อมี วัคซีน พาสต์ปอร์ท การท่องเที่ยวทั่วโลกก็อาจจะเริ่มฟื้นคืนกลับมา หรือมีการค้าส่งออก ได้มากขึ้น" นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว  

สำหรับการบริหารจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ เห็นว่าควรเร่งดำเนินการทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโรคฯ จากคลัสเตอร์กลุ่มต่างๆ ที่เกิดตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ถึงในขณะนี้ ด้วยหากไม่มีการบริหารจัดการ หรือ ควบคุมที่ดี เชื่อว่าการติดเชื้อจะลุกลามถึงในระดับครอบครัว และทั่วประเทศมากขึ้น ด้วยพบว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มหนุ่มสาว อายุ 30-40 ปี

ขณะที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาดูแลด้านการบริหารจัดการ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของคอขวดทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

1.ยา ในการรักษา จากข้อมูลล่าสุด (สัปดาห์ที่ผ่านมา) พบว่ากลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 ในประเทศไทย คาดมีอยู่ราว  4แสนเม็ด โดยผู้ป่วย 1 รายต้องใช้ยาประมาณ 50-100 เม็ด/เคส เป็นต้น

โดยปริมาณยารักษาจำนวนดังกล่าว หากต้องถูกนำมาจัดสรรให้กับผู้ป่วยโควิดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน อาจส่งผลให้ปริมาณยาที่ใช้ในการักษาปัจจุบันไม่เพียงพอกับสัดส่วนผู้ป่วยในขณะนี้ ที่พบว่ามีผู้ติดเชื้่อหลักพันกว่าคน/วัน ซึ่งล่าสุดทางภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการวางแผนเตรียมการด้านยา เพื่อรับมือล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในเวลานี้ 

"หากมีแนวทางปรับรูปแบบวิธีการให้ยาแก่ผู้ป่วยมาใช้ในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะช่วยสกัดกั้นการลุกลามของเชื้อไม่ให้ติดต่อไปยังคนอื่นได้อีกด้วย เพราะถ้าจะใช้หมอ ใช้โรงพยาบาลสนาม ก็ต้องมียาด้วย ไม่ใช่แก้ปัญหาแค่สถานที่ แต่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ คือ แก้ปัญหาคอขวดการบริหารจัดการคนไข้โควิด ที่จะต้องโฟลว์"  นพ.พงษ์พัฒน์  กล่าว

ด้วยแนวทางปฏิบัติคนไข้โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา หากพบว่าผู้ป่วยมีผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นบวก (Positive) โรงพยาบาลจะต้องเป็นผู้รับคนไข้รายดังกล่าวเพื่อดูแลรักษา และในกรณีที่โรงพยาบาลมีเตียงบริการไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ภาครัฐได้เข้ามาแก้ปัญหาด้วยจัดให้มีโฮสพิเทล (Hospitel) โรงพยาบาลสนามมารองรับ แต่หากมีจำนวนยาเพื่อการรักษาไม่เพียงพอกับผู้ป่วยแล้ว การมีสถานที่มารองรับผู้ป่วย ก็อาจไม่มีประโยชน์มากนัก

สำหรับปัญหาคอขวดที่ 2 คือ การขาดแคลนแพทย์ ด้วยปัจจุบันประเทศไทย มีสัดส่วนแพทย์ต่อการดูแลรักษาคนไข้อยู่ที่ 4-5 คน/ประชากร1หมื่นคน ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซีย, สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เฉลี่ยอยู่ที่ 10,20 และ 40 คนต่อประชากร1หมื่นคน ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าไทยหลายเท่าตัว ด้วยหากคนไข้หนักเพิ่มขึ้นมากๆ จะดูแลไม่ไหว

ส่วนปัญหาคอขวดด้านที่ 3 คือ ทรัพยากร-อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยผู้ป่วยหายใจ ห้องคนไข้วิกฤต หรือ ไอซียู (Critical Care) ซึ่งมีความต้องการแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยหนัก ตลอดจนห้องพิเศษความดันลบ เป็นต้น ซึ่งหากมีผู้ป่วยหนักเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน ก็อาจจะไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ หรือ แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เข้ามาดูแลคนไข้ได้เพียงพอ

ดังนั้น กระบวนการนี้ จะต้องมีการออกแบบบริหารจัดการทรัพยากร ที่มีประสิทธิภาพรองรับ แบ่งงานอย่างเหมาะสม เช่น โรงเรียนแพทย์  โรงพยาบาลที่มีทรัพยากรมากที่สุด จำนวนแพทย์ที่ให้บริการ จำนวนแพทย์ในห้องผู้ป่วยวิกฤต จำนวนอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ จำนวนเตียงรองรับ เป็นต้น 

โดยเฉพาะด้านทรัพยากรอุปกรณ์ที่ปัจจุบันมีอยู่มากในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เช่น รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ศิริราช ภูมิพล ราชวิถี ฯลฯ ซึ่งควรประสานเชื่อมต่อการทำงานระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลรัฐและเอกชนร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ในด้านต่างๆ อาทิ กรณีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่จำเป็นต้องนอนในห้องไอซียู โรงพยาบาลสามารถจำหน่ายคนไข้ออกมาเพื่อไปรักษาต่อไปยังสถานที่รัฐจัดให้ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์รองรับ

ทั้งนี้ หากไม่มีการวางแผนบริหารจัดการโควิด-19 รอบด้านอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบบริการสาธารณสุข  ตั้งแต่ ยา, อุปกรณ์ทางการแพทย์  ทีมแพทย์  เป็นต้น ด้วยปัจจุบันผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในกรุงเทพเกิน 60% และอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน หรือในโฮสพิเทล เป็นหลัก จากศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย เแต่หากเป็นกรณีคนไข้หนัก อาจมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรไม่เพียงพอ ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ในโรงเรียนแพทย์ 

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่าปัญหาคอขวดสุดท้ายที่ 4 คือ ความคุ้มครองวิชาชีพ เช่นเดียวกับที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จัดตั้งกฎหมายลักษณะดังกล่าว ออกมาคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ หรือ ทีมแพทย์ ในการรักษาคนไข้โควิด-19 กรณีที่บางครั้งต้องตัดสินใจเลือกรักษาผู้ป่วยเคสหนักในแต่ละกรณี รวมถึงความรับผิดชอบต่อคนไข้ ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด โดยโรงพยาบาลนั้นๆต้องเป็นผู้รับการดูแลคนไข้เพื่อรักษาทันที ตามกฎหมาย 

โดยเห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาคอขวดดังกล่าว จำเป็นจะต้องออกแบบเมดิคัล ท็อป ทีม  'Medical Top Team' หมายถึงการนำคนที่มีบทบาทต่อระบบสาธารณสุข มีความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งมีการตัดสินใจร่วมกันในเรื่องนี้ มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถสื่อสารระหว่างกัน บริหารจัดการเรื่องดังกล่าวได้อย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุม/ยับยั้งการแพร่ระบาดในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวัน  

"ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายมาหนึ่งฉบับ เพื่อคุ้มครองโรงพยาบาลและหมอ ด้วยโรคดังกล่าวเกิดจากการระบาดในอู่ฮั่น เป็นโรคที่รุนแรงติดง่าย ผลข้างเคียงเยอะ ยารักษาไม่มี เหมือนวัคซีนอยู่ในขั้นทดลอง วิธีการรักษาโควิดในตอนนั้นอยู่ในขั้นทดลอง เช่นกัน เพราะเราไม่มียาโดยตรงรักษา เป็นยาผ่อนคลายบางอย่าง เมื่อคนไข้มาเป็นกลุ่มใหญ่มีจำนวนมาก หมอขาดแคลนไม่เพียงพอกับคนไข้ ก็ต้องมีการตัดสินใจ ซึ่งวิธีการเหล่านี้รัฐควรให้การคุ้มครอง” นพ.พงษ์พัฒน์  กล่าว