posttoday

‘รองเท้าแตะไทย’ ดาวรุ่งสินค้าส่งออก ใน16 ประเทศข้อตกลงเอฟทีเอ 

14 เมษายน 2564

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอก “รองเท้าแตะ” เป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่งที่น่าจับตา เหตุมีคุณภาพ มาตรฐาน และไทยได้เปรียบด้านวัตถุดิบหาได้ในประเทศ แถมมีข้อตกลงเอฟทีเอช่วยลดต้นทุนส่งออก 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองเท้าแตะเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทยที่น่าจับตามมอง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกรองเท้าแตะของไทยไปตลาดต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรองเท้าแตะกลุ่มที่ทำจากยางหรือพลาสติก ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 8 ของโลก รองจาก จีน สหภาพยุโรป เวียดนาม ตุรกี สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย บราซิล 

โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรองเท้าแตะของไทย ได้แก่ คุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ได้รับการยอมรับ ประกอบกับความได้เปรียบด้านต้นทุน เนื่องจากสามารถหาวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ เม็ดพลาสติก และยางพาราแปรรูปได้ภายในประเทศ และมีแรงงานคุณภาพที่มีประสบการณ์ 

ทั้งนี้ ไทยยังมีแต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีกับ 18 ประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ซึ่งช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะที่ส่งออกจากไทย ทำให้สินค้าของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น 

ปัจจุบัน 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และชิลี ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะจากไทยทุกรายการ ทั้งรองเท้าแตะที่ทำจากยางหรือพลาสติก รองเท้าแตะจากหนัง และรองเท้าแตะจากวัสดุสิ่งทอ (พิกัดศัลกากร 640299900001 64041900001 64042000001) แล้ว เหลือเพียง เปรู และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้าแตะจากไทย โดยอินเดียลดภาษีนำเข้าจาก 10% เหลือเก็บภาษีที่ 5% และเปรูเก็บภาษีนำเข้าที่ 11%

นางอรมนกล่าวว่า เมื่อพิจารณาตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย พบว่าประเทศคู่เอฟทีเอเป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้ารองเท้าแตะของไทย โดยไทยส่งออกสินค้ารองเท้าแตะไปยังตลาดคู่เอฟทีเอรวมกันปีละมากกว่า 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด ประมาณ 64% ของการส่งออกทั้งหมด และการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2560-62 ไทยส่งออกรองเท้าแตะไปประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่ารวม 49 ล้านเหรียญสหรัฐ 59 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 66 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 12% ต่อปี 

สำหรับปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว ทำให้การส่งออกสินค้ารองเท้าแตะของไทยชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยไทยส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอรวม 59 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 11% ส่วนในช่วง 2 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10% 

แต่การส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอหลายประเทศมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย เช่น ลาว เพิ่ม 6% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 100% เวียดนาม เพิ่ม 25% อินโดนีเซีย เพิ่ม 139% มาเลเซีย เพิ่ม 66% และการส่งออกไปตลาดอินเดีย และญี่ปุ่น ก็ขยายตัวเช่นกัน เพิ่ม 7% และ 26% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มตลาดในปี 2564 ที่เริ่มฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวคาดการณ์ว่าตลาดรองเท้าแตะมีแนวโน้มเติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเป็นสินค้าพื้นฐานที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย และปัจจุบันนอกเหนือจากการซื้อรองเท้าแตะเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานทั่วไปแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่นได้อีกด้วย จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดส่งออกได้อีก โดยเฉพาะเจาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วยและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยออกแบบรองเท้าให้ใส่สบายส่งผลดีต่อสุขภาพ 

รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความหลากหลายตามพฤติกรรมและสมัยนิยมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้รองเท้าแตะของไทยครองใจผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น กลุ่มเด็กอาจมีความต้องการสีสันลวดลายที่สดใส กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงวัยต้องการรองเท้านุ่มสบายเพื่อดูแลสุขภาพเท้าและสรีระ กลุ่มวัยรุ่นต้องการรองเท้าแตะประเภทแฟชั่นและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรองเท้าแตะบ่อยครั้งขึ้น เป็นต้น 

ทางด้านการส่งออกสินค้ารองเท้าแตะของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2563 มีมูลค่ารวม 87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง  20% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สัดส่วน 64.5% ของการส่งออกทั้งหมด มีเมียนมา กัมพูชา และลาวเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วน 8.4% ซาอุดีอาระเบีย สัดส่วน 4.1% ลิเบีย สัดส่วน 2.7% และอินเดีย สัดส่วน 1.6% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ รองเท้าแตะที่ทำจากยางหรือพลาสติก สัดส่วน 92.4% ของการส่งออกทั้งหมด รองเท้าแตะที่ทำจากวัสดุสิ่งทอ สัดส่วน 6.8% และร้องเท้าแตะที่ทำจากหนัง สัดส่วน 0.8%